xs
xsm
sm
md
lg

“พัชรินทร์” อภิปรายหนุนแจก “ฟ้าทะลายโจร” ให้ผู้ป่วยโควิดรอเตียง แนะ กทม.ประสานส่วนกลางมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พัชรินทร์” อภิปราย “วิกฤตการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19” แนะกระจายยา “ฟ้าทะลายโจร” ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ขอ กทม.ประสานงานกับส่วนกลางให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ชี้การสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นเรื่องสำคัญ

วันนี้ (8 ก.ค.) ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ถึง “วิกฤตการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19” ที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยตกค้าง ต้องรอการช่วยเหลืออยู่ในที่พักอาศัยของตนเอง ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลอย่างยิ่ง ทั้งตัวผู้ป่วยและบุคคลรอบข้าง ต่อการได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที พร้อมเสนอให้มีมาตรการควบคู่ในระหว่างเร่งจัดหาเตียง ไม่ให้ผู้ป่วยต้องรออย่างไร้ความหวัง

สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยสามารถกักตัวที่บ้านได้ หรือ Home Isolation นั้น ผู้ป่วยต้องมีสถานที่ที่พร้อมระดับหนึ่ง รวมถึงมีความมั่นใจว่าจะไม่ถูกทอดทิ้ง ปัจจุบันคนจำนวนมากยังเข้าใจผิดว่า Home Isolation เป็นการรออยู่ที่บ้านเฉยๆ โดยไม่ได้รับการดูแลทางการแพทย์ จึงต้องสื่อสารในประเด็นนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น


ส่วนกรณีผู้ป่วยที่ไม่พร้อมสำหรับ Home Isolation และยังไม่มีเตียงรองรับ ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิดเกิดความรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป จึงต้องชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจว่ากำลังจัดหาเตียงให้ ไม่ได้ปล่อยไว้เฉยๆ รวมถึงวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในระหว่างรอการประสาน ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตอาการเบื้องต้น การต้องกักตัวไม่ออกไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เป็นต้น และที่สำคัญเบอร์ติดต่อควรมีผู้รับสาย พร้อมให้การช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ในระหว่างรอการประสานจากโรงพยาบาลนั้น ขอให้พิจารณาจ่ายยา “ฟ้าทะลายโจร” ให้กับผู้ป่วยและคนในครอบครัว ที่อยู่ในกลุ่มที่สามารถรับยานี้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง จนยากที่จะช่วยเหลือเมื่อถึงมือแพทย์ เนื่องจาก “ฟ้าทะลายโจร” เป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณยับยั้งการเติบโตของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วจากผลวิจัยหลายชิ้น และปัจจุบันได้รับการลงทะเบียนในบัญชียาหลักเรียบร้อยแล้ว รวมถึงต้องการให้ส่งเสริมอย่างจริงจังให้ส่งออกสมุนไพรไทยและตำรับยาไทยสู่นานาชาติ

นอกจากนี้ “การสื่อสารในภาวะวิกฤต” ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ที่ผ่านมายังพบว่ามีหลายครั้งที่การสื่อสารจาก ศบค. กับ กรุงเทพมหานคร ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ จึงขอเสนอให้ กรุงเทพมหานคร ได้ประสานความร่วมมือกับส่วนกลางมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สื่อสารข้อมูลให้กับประชาชนได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และไม่ลังเลที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องต่างๆ ที่ภาครัฐได้ประกาศออกไป เพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปโดยเร็ว

นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่ประชาชนต้องไปนอนรอเพื่อต่อคิวตรวจโควิด-19 นั้น เป็นจุดที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อเพิ่มขึ้น จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดระบบอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความแออัดและความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

“สุดท้าย ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้ทุกหน่วยงาน บุคลากรและอาสาสมัครทุกท่าน ที่ทำงานอย่างหนักในเวลานี้ รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ด้วย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อเสนอแนะที่ดิฉันได้อภิปรายไปนี้ จะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ดร.พัชรินทร์ กล่าวปิดท้ายการอภิปราย




กำลังโหลดความคิดเห็น