xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” ดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ ผ่านสภาวาระแรก ปรับบทบัญญัติให้สอดคล้องการปฏิบัติงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ ผ่านสภาวาระแรก เพิ่มความปลอดภัย-ค่าตอบแทน ปรับบทบัญญัติให้สอดคล้องการปฏิบัติงาน

วันนี้ (7 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย เป็นประธานในการประชุม มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 จะแก้ไขเพิ่มเติม คือ ในมาตรา 3 คือ คำว่า พยาน ให้ครอบคลุมถึงผู้แจ้งเบาะแสในคดีอาญาและจำเลยในคดีอาญาให้ได้รับการคุ้มครอง มาตรา 6 เพิ่มให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานมีการประเมินพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัยของพยาน มาตรา 8(2) และ (3) แก้ไขเพิ่มเติมมูลฐานความผิดฐานก่อการร้าย และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นมูลฐานความผิดที่ร้องขอมาตรการพิเศษ มาตรา 10 ตัดอายุความการจ่ายค่าเลี้ยงชีพของพยาน และให้แก้ไขการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนราษฎรของพยานได้ มาตรา 12(6) เหตุสิ้นสุดในการคุ้มครองพยาน ให้สำนักงานคุ้มครองพยานเสนอเหตุสิ้นสุดในการคุ้มครองพยานได้ มาตรา 13 วรรคแรก ให้สำนักงานคุ้มครองพยานมีหน้าที่ในการฝึกอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจคุ้มครองพยาน และเพิ่มมาตรา 13 วรรคสอง กำหนดให้มีการช่วยเหลือพยานที่ได้รับผลกระทบจากการมาเป็นพยาน ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ มาตรา 13/1 เพิ่มอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจค้น ควบคุมบุคคลหรือยานพาหนะต้องสงสัยที่อาจก่ออันตรายต่อพยาน และมาตรา17 วรรคแรก ให้พยานมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายที่ได้เดินทางมาให้ข้อเท็จจริง

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง พบว่า บทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน สภาพเศรษฐกิจ ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับพยานที่มาทำหน้าที่เป็นพยานในการพิจารณาคดีอาญา รวมทั้งยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงาน เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 กระทรวงยุติธรรม จึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้พยานได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแแก่พยานที่มาทำหน้าที่พยานในคดีอาญา สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและไม่เป็นภาระแก่พยาน

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง และได้ลงมติรับหลักการด้วยคะแนนเอกฉันท์ 301 ต่อ 0 เสียง และตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ 25 คน ระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น