xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.คาดเซ็นโมเดอร์นาต้น ส.ค.ได้วัคซีนไตรมาส 4 ปีนี้ แย้ม Home isolation ช่วยได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีมหมอศบค. ย้ำเร่งหาวัคซีนหลากยี่ห้อ โมเดอร์นาแจ้งส่งเร็วไตรมาส 4 ปีนี้ วางแผนเซ็นต้นส.ค. โต้ต้องสั่งได่แต่ทางตัวแทน เผยวัคซีนผลิตเองน่าพอใจ ภาพรวมเตียงพอรับได้ แย้มHome isolation ช่วยได้ รับบุคลากรหน้างานตึงจริงๆ รับน่าเป็นห่วง

วันนี้ (4ก.ค.) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มอบหมาย นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมแถลงชี้แจงถึงแนวทางรับมือการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมทั้งความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนทางเลือก เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่าวัคซีนจะแบ่งเป็นวัคซีนที่รัฐจัดหา จะมีอยู่ 5 ยี่ห้อคือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และเพิ่มเติมอีก 3 ยี่ห้อคือ ไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุตนิก ไฟว์ ส่วนวัคซีนทางเลือกที่เอกชนนำเข้าเองคือ โมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม ก่อนการระบาดใหญ่เราทำงานเชิงรุกไปตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ติดต่อและแสดงความจำนงโดยตรงไปที่บริษัทโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา และได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทจะส่งมาได้เร็วที่สุดในไตรมาสแรกของปี 2565 นอกจากนี้องค์การเภสัชได้ติดต่อวัคซีนอื่นอย่างน้อย 2 ยี่ห้อ ได้รับคำตอบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะซัพพลายให้ทันในปีนี้ แต่เราก็พยายามจะติดต่อให้ได้หลายชนิด โดยยังผลิตเองในประเทศไทยด้วย

ส่วนที่มีโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่งระบุว่า ติดต่อซื้อวัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นาได้โดยตรงนั้น ขอชี้แจงว่า จะต้องติดต่อผ่านบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนนำเข้าเท่านั้น ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม ทางบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด แถลงว่า การซื้อวัคซีนจะต้องติดต่อผ่านทางภาครัฐ ทำให้องค์การเภสัชถูกมอบหมายเป็นตัวแทน ดังนั้น วัคซีนโมเดอร์นาจะมีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้นำเข้า และเป็นผู้ทรงสิทธิในการเป็นเจ้าของทะเบียน ไม่ใช่วัคซีนขององค์การเภสัช เราเป็นเพียงตัวแทนภาครัฐ จากการเจรจาได้รับทราบว่าวัคซีนโมเดอร์นาจะมาเร็วก่อน 1 ไตรมาสคือ ไตรมาส 4 ของปี 2564

เนื่องจากวัคซีนตัวนี้ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ ทำให้ได้รับมอบช้า เพราะต้องทำงานคู่ขนานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่มีโรงพยาบาลทั่วประเทศประมาณ 300 กว่าโรงพยาบาล เพื่อรวบรวมความต้องการวัคซีนและเงินมา เพื่อแจ้งว่าเป็นความต้องการวัคซีนจริงๆ ล่าสุด มีความต้องการเสนอมา 9 ล้านโดส คาดว่าจะได้รับมอบวัคซีนภายในปีนี้ 4 ล้านโดส ที่เหลือจะมาต้นปีหน้า แต่บริษัทโมเดอร์นาไม่ได้แจ้งมาว่าจะมาในวันไหน เดือนไหน นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมองค์การเภสัชยังไม่เซ็นสัญญาสักที เพราะต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมเงินมาก่อนที่จะเซ็นสัญญา หากไปเซ็นสัญญาโดยที่ความต้องการไม่มีอยู่จริง องค์การเภสัชจะรับผิดชอบไม่ไหว เพราะเป็นวัคซีนราคาแพง เราจึงได้วางแผนไว้ว่าจะเซ็นสัญญาบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ภายในต้นสัปดาห์ของเดือนสิงหาคม

ส่วนเอกสารสัญญาได้ร่างไว้หมดแล้ว รวมถึงเอกสารข้อจำกัดของต่างประเทศที่ได้ส่งไป และเพิ่งได้รับเอกสารตอบกลับจากบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เมื่อช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ (2 กรกฎาคม) จากนั้นได้รวบรวมส่งไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดช่วงตอนเที่ยงของวันเดียวกันตามขั้นตอน ทั้งนี้ ประเด็นนี้อาจจะต้องนำเข้าไปหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย เพราะจะมีบางเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจองค์การเภสัช แต่เราก็ต้องทำให้รอบคอบ จากนี้ต้องกระจายให้ทั่วประเทศให้ถึงกลุ่มโรงพยาบาลทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่อย่างเป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด นอกจากนี้ เรายังรวบรวมถึงสิทธิประโยชน์ประกันภัยด้วย หากสัญญาเรียบร้อยจะได้วัคซีนโมเดอร์นาภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ส่วนวัคซีนตัวอื่นกำลังเฝ้าจับตาดูอยู่ รวมถึงที่วิจัยในไทย เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ มีอยู่ประมาณ 2-3 ยี่ห้อ ขณะเดียวกันยังมีวัคซีนที่องค์การเภสัชผลิตเองด้วย ผ่านการวิจัยในเฟสหนึ่งแล้ว ผลออกมาน่าพอใจ กำลังดำเนินวิจัยในเฟสสองในปลายเดือนนี้หรืออย่างช้าวันที่ 10 สิงหาคม 2564

ข้อมูลดีมานด์และซัพพลายวัคซีนทั้งโลกจากยูนิเซฟระบุว่า ดีมานวัคซีนมีอยู่ 1.1 หมื่นล้านโดส ส่วนซัพพลายมีอยู่ 9 พันล้านโดส เราไม่ได้ย่อท้อ ทุกเรื่องที่ถูกปฏิเสธก็พยายามต่อรองขอร้องเขาทุกสัปดาห์ ผู้ใหญ่หลายท่านและรัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือ ถ้ามีข่าวดีเราจะรีบแจ้ง ขณะนี้ข้าศึกไม่ได้มาประชิดบ้านเรา แต่พวกเรากำลังตะลุมบอนอยู่

สำหรับวัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันผลการตอบสนองต่อโรคลดลง ผู้ผลิตหลายรายได้พยายามปรับต้นเชื้อให้เป็นตามเชื้อที่เปลี่ยนไป ดังนั้น จะเห็นว่าทางทีมวิจัยก็พยายามทำงานอย่างหนัก ผู้ผลิตที่เราใช้อยู่ทุกตัวก็พยายามปรับปรุง และภายในปีหน้า ถ้าองค์การเภสัชจะวิจัยว่าในเข็มที่สามจะใช้วัคซีนยี่ห้อที่แตกต่างจากที่เคยฉีดไปแล้วได้หรือไม่ เพื่อตอบสนองต่อเชื้อที่กลายพันธุ์ไปแล้ว เชื้อเปลี่ยนไปตลอดเวลาและเร็วมาก จึงจะต้องเปลี่ยนวัคซีนไปทุกปีหรือไม่ ขอเรียนประชาชนว่า เราไม่เคยอยู่เฉยๆ และไม่เคยอยู่นิ่ง แม้จะดูไม่มีความหวัง แต่เราก็ไม่เคยทิ้ง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเรื่องเตียงและสถานที่รองรับผู้ป่วย มีการแบ่งเป็นภาพทั้งประเทศ ภาพเฉพาะพื้นที่และภาพ กทม. หากภาพทั้งประเทศจำนวนเตียงเฉลี่ยทั้งประเทศยังพอรับได้ ในภาครัฐมีเตียงอยู่ประมาณ 70,000 กว่าเตียงทั่วประเทศ และในขณะนี้ก็พยายามไปเสริมเฉพาะพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล ที่มีการขยายเตียงโอเวอร์ไปประมาณ 200-300% รวมกับทางภาคใต้ที่มีการระบาดใน 3 จังหวัดบวกกับ จ.สงขลา เป็นส่วนที่พยายามเตรียมเตียงเพิ่ม ซึ่งต้องเรียนว่าหากไม่จำเป็นก็ไม่อยากใช้มาตรการ Home Isolation แต่ในบางพื้นที่ หากยกตัวอย่างชัดๆ คือกรุงเทพฯ และปริมณฑลบางจังหวัดที่ในขณะนี้สถานการณ์ค่อนข้างหนัก

อย่างไรก็ตาม จากการขยายเตียงแบ่งออกมา 200-400% จากเตียงแดงแบ่งได้น้อยประมาณเท่าตัวเพราะต้องการผู้เชี่ยวชาญ แต่เตียงเหลืองจะเพิ่มขึ้นมาเยอะ และต้องขอบคุณเตียงเขียวว่ามีความงดงามบางอย่างที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายมาช่วยกันและเข้าใจว่าประชาชนคงได้ข่าวว่ามีการขยายเตียงไอซียูเพิ่มขึ้นอีกรวมๆ ประมาณ 50 เตียง เช่น ที่ รพ.ธรรมศาสตร์รังสิต รพ.รามา (พญาไท) และที่ รพ.วชิระ เป็นต้น ทั้งนี้ มีเตียง มีอุปกรณ์พร้อมหมดขาดเพียงแค่บุคลากรทางการแพทย์ จึงต้องใช้หมอที่เพิ่งเรียนจบ แพทย์เฉพาะทางอย่าเพิ่งกลับไปใช้ทุนต่างประเทศ ให้มาช่วยกันตรงนี้ รวมทั้งระดมพยาบาลไอซียูจากต่างจังหวัดมาช่วยด้วย

ล่าสุด มีการไปเปิดที่ มทบ.11 เป็นการใช้ที่กลาโหมแต่นำเอกชนมาช่วยทำ กทม.เองไปขยายเตียงสีเหลืองและสีแดงเพิ่ม สีเขียวเอกชนมาร่วม ได้ข่าวมาว่าเอกชนหลายแห่งมาขยายสีเขียวเพิ่มอีก 4,000 เตียง เป็นการดึงคนไข้มาไว้ที่โรงพยาบาลก่อน จากการทำงานของคอลเซ็นเตอร์ทั้ง 1330 และ 1668 1669 พบว่ายังมีคนที่ค้างรอเตียงที่บ้านเป็นจำนวนมาก มีการคิดว่าทำอย่างไรที่คนรอเตียงอยู่จะสามารถไปดูแลที่บ้านได้ จึงคิดมาตรการ Home Isolation ที่โรงพยาบาลสามารถไปดูแลคนไข้ที่บ้านได้ เช่น การวัดปรอทที่บ้าน วัดออกซิเจนในกระแสเลือด ส่งอาหารให้ทาน 3 มื้อ รวมถึงวิดีโอคอลวันละ 2 ครั้งเพื่อติดตาม เพราะการทำ Home Isolation มีปัญหาแน่นอนในเรื่องของการกลัวว่าสุขภาพของผู้ป่วยจะแย่ลง หากมีการติดตามก็คาดว่าจะไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ การทำ Home Isolation จะทำได้แค่กับคนที่มีห้องส่วนตัวที่อยู่คนเดียว เราจึงมีมาตรการการทำ Community Isolation คือการนำผู้ติดเชื้อมาแยกกักตัวที่อาจจะเป็นศาลาวัด หอประชุมโรงเรียนแม้กระทั่งในโรงงานเอง

5 เรื่องที่สำคัญคือนโยบายต้องชัดเจน เมื่อมีนโยบายออกมาแล้วประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ระบบควบคุมโรคต้องเข้มแข็ง ต้องมีการเฝ้าระวังควบคุมและต้องมีการฉีดวัคซีน หาก 5 เรื่องนี้ไปด้วยกันดี หากลดจำนวนผู้ป่วยลงไปการหาเตียงไม่ใช่เรื่องยาก แต่บุคลากรที่อยู่หน้างานขณะนี้ตึงจริงๆ บางคนไม่ได้กลับบ้านมา 2 เดือนแล้ว ส่วนกรณีมีการตรวจแต่ไม่รับผู้ป่วยเนื่องจากเตียงไม่พอนั้น จริงๆ ตั้งแต่แรกก็ไม่ได้บอกว่าหากตรวจแล้วต้องรับ บอกแค่ที่ไหนช่วยตรวจแล้วให้ช่วยประสาน

ในขณะนี้มีมาตรการเรื่อง Home Isolation และ Community Isolation ออกมา ผมคิดว่าส่วนนี้จะผ่อนคลายไปได้ แค่ตรวจแล้วต้องนำเข้าระบบโดยเร็ว เรามีระบบคลูลิงก์ที่เมื่อเจอผลเป็นบวกจะไปปรากฏบนฐานข้อมูลและมีการติดตามว่าผู้ป่วยอยู่ที่ไหน เมื่อรับเข้ามาก็จะมาประเมินว่าผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์สีใด หากอยู่ในเกณฑ์สีเขียวก็จะให้ทำ Home Isolation หากอยู่คนเดียวได้ ทั้งนี้ Home Isolation ได้ทดลองที่ รพ.ราชวิถี มาแล้ว 2 เดือน จากการทดลองได้ผลดี ส่วน Community Isolation ได้ประสานกับ NGO แล้ว กทม.ก็ได้ก้าวเข้ามาแล้ว และเข้าใจว่าต้องมีสำนักงานเขตหรือใครเข้าไปประสานภาคสังคมและชุมชน

ในส่วนที่มีการขยายเตียงแล้วจะรับผู้ป่วยได้มากน้อยแค่ไหนและจะมีแผนรองรับอย่างไรบ้าง ผมตอบคำถามได้ไม่ชัด เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คาดการณ์ว่าหากผู้ป่วยในประเทศอยู่ที่ 5,000-6,000 คน ยังพอไปได้หากไม่ขึ้นมากกว่านี้ แต่ภาคพื้นที่ ผมเข้าใจว่าในขณะนี้หนักที่ภาคใต้และปริมณฑลบางส่วน ในพื้นที่ภาคใต้ก็มีการพยายามขยายเตียงเพิ่มมากขึ้น ย้อนกลับมาที่กรุงเทพฯ มียอดคนติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 2,000 คน คาดการณ์เอาไว้ว่าหากตัวเลขอยู่ที่ 1,000 คน ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขยายเตียงไอซียูก็ยังพอไหวแล้ว แต่เมื่อมาแตะ 2,000 คน การขยายเตียงไอซียูก็อาจจะมีปัญหา จึงควรลดจำนวนผู้ป่วยลงก่อนจึงจะจัดการกับสถานการณ์ในส่วนนี้ได้

หากผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐเต็มจะประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่นั้น ความร่วมมือกับภาคเอกชนทำมาปีกว่าแล้ว โดยมี 5 ภาคีเครือข่ายคือ กทม. กรมการแพทย์ บุคลากรโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลกลาโหม และตำรวจเข้ามาร่วมด้วย ทั้งนี้ ตั้งแต่การระบาดในรอบที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนรับผู้ป่วยไป 60% เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนมีการขยายเตียงไว้รองรับผู้ป่วยอีกประมาณ 4,000 เตียง แต่เมื่อเห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนมีเตียงว่างแต่ไม่รับเข้าไปรักษานั้นเนื่องจากมีข้อจำกัด เช่น ไม่รับคนท้อง ไม่รับเด็กหรือคนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หากช่วยกันในส่วนนี้เชื่อว่าจะช่วยคลายสถานการณ์ไปได้ส่วนหนึ่ง

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิดในปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วง ระลอกล่าสุดเดือนเมษายนพบสายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดได้เร็ว แม้ช่วงแรกจะอยู่ใน กทม.และปริมณฑล แต่ระยะหลังเข้าไปยังสถานประกอบการ ขณะนี้มีเข้าไปในชุมชนและครัวเรือนมากขึ้น ผู้ติดเชื้อแตะหลัก 2,000 รายวันที่สอง อีกทั้งคนกลับจาก กทม.ไปต่างจังหวัดมากขึ้น เมื่อมีผู้ติดเชื้อไปในพื้นที่แต่ละพื้นที่ก็เร่งสอบสวนและควบคุมโรคเพื่อจำกัดไม่ให้แพร่เชื้อต่อ ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง

ด้วยความตื่นตัวของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราคงจำนวนผู้ติดเชื้อไว้ในระดับที่เพิ่มไม่มากนัก สิ่งสำคัญต้องดูแลผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง เพราะหากรักษาช้าอาการจะรุนแรงและเสียชีวิตได้ และข้อกำหนดฉบับที่ 25 ที่เพิ่งออกมามุ่งเน้นไปที่ลดการเคลื่อนย้าย และลดการแพร่เชื้อ เห็นได้จากการปิดแคมป์คนงานและไม่ให้รับประทานอาหารในร้าน สิ่งที่ยังเหลืออยู่คือการแพร่เชื้อในชุมชนและครัวเรือน ผู้สูงอายุที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็ติดเชื้อจากที่บ้าน คนที่ออกไปทำงานก็ต้องป้องกันตัว หากทุกคนป้องกันการติดเชื้อในครัวเรือนและมีการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุมากขึ้นเร็วขึ้น หากทำได้จะลดการเสียชีวิตในกลุ่มนี้ได้ สิ่งสำคัญคือมาตรการป้องกันส่วนตัว และเรื่องวัคซีนที่ต้องเร่งดำเนินการ

กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้จัดหาวัคซีน ตัวแรกคือซิโนแวค ตั้งแต่ปลายปี 2563 และได้เข้ามาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเดียวกับที่แอสตร้าเซนเนก้าเข้ามา หลังจากนั้นก็มีวัคซีนเข้ามาเรื่อยๆ ขณะนี้ฉีดไปแล้วกว่า 10 ล้านโดส ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทย 6 ชนิด อยู่ระหว่างดำเนินการคือวัคซีนไฟเซอร์ ลงนามในเอกสารไปแล้ว 2 ฉบับ คือเอกสารสัญญาไม่เผยแพร่ข้อมูลของวัคซีน และเอกสารจองวัคซีน เหลือเพียงการเซ็นสัญญาจัดซื้อ อยู่ระหว่างการตรวจของสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวเพื่อจัดเตรียมงบประมาณ แต่เนื่องจากในสัญญาการซื้อวัคซีน 20 ล้านโดสต้องรอบคอบ เงื่อนไขในสัญญาก็เหมือนกับบริษัทวัคซีนต่างๆ ที่ตั้งเงื่อนไข อาทิ ต้องมีเงินจอง ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า กรณีวัคซีนไม่สามารถส่งมอบได้ตามกำหนดต้องไม่เสียค่าปรับ

กรณีของไฟเซอร์ตามกำหนดคือไตรมาส 4 ต้องไม่มีค่าปรับ หากนำมาใช้มีผลข้างเคียงรัฐบาลต้องดูแล และคาดว่าสำนักงานอัยการสูงสุดจะสามารถตรวจสัญญาให้เสร็จได้ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม หลายเรื่องเป็นข้อผูกพันต้องให้รัฐบาลเห็นชอบ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแผนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม หากทุกฝ่ายเห็นชอบก็จะลงนามสั่งซื้อได้ หลังจากนั้นจะเจรจาส่งมอบให้เร็วขึ้น แต่หากมีความคืบหน้าเป็นข่าวดีอย่างไรจะรีบสื่อสารให้ทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น