xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องวุ่นๆที่ “ทุ่งดอนเมือง” (จบ) : ตามสั่งการ-ทราบแล้วซุก “ลูกน้อง”หนีคุกจ้าละหวั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ
เปิดคีย์เวิร์ด “ตามสั่งการ ผบ.ทบ.” ลือหึ่ง “ลูกน้องหลายคน” ไม่เล่นด้วย ด้วยรู้ดีว่า การเปลี่ยนแปลง “วัตถุประสงค์-สาระสำคัญ” โครงการที่ผ่านหน่วยงาน -รัฐสภาไปแล้วเป็น “เรื่องใหญ่” และเข้าข่าย “ผิดกฎหมาย” การกำกับทุกคำสั่งไว้ว่า “ตามสั่งการ ผบ.ทอ.” จึงเสมือนเป็นการสร้าง “กลไกปกป้องตัวเอง” ให้หลุดสถานะ “จำเลย” เหลือแค่ “พยาน” ยามเป็นเรื่อง

ใช่ว่าปฏิบัติการ “รื้อ” 3 โปรเจ็คต์ยักษ์ มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ของ “บิ๊กแอร์” พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) คนปัจจุบัน จะราบรื่นสะดวกโยธิน

เพราะตลอดทาง ก็มี “เด็กดื้อ” ยื้อยุดฉุดกระชากสุดฤทธิ์ไว้เช่นกัน ด้วยมองว่าที่ปฏิบัติการที่พยายามทำอยู่นั้น ถ้าไม่ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” ย่อมมองออกว่า “ไม่ถูกต้อง”

หรือระดับ “อดีต ผบ.ทอ.” ที่วางรากฐานไว้ และอาบน้ำร้อนมาก่อนมีหรือจะไม่ “รู้ทัน” ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นที่ “ทุ่งดอนเมือง”

เพราะไม่เพียงแต่กองทัพอากาศจะไม่ดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์ตามที่มาชี้แจงไว้กับคณะกรรมาธิการงบประมาณฯของรัฐสภาแล้ว ยังปล่อยให้มีการเปลี่ยนแปลง “สาระสำคัญ” ของการจัดซื้อจัดหา “โดยพลการ”

ข้อเท็จจริงในการขอใช้งบประมาณปี 2564 นั้น กองทัพอากาศ ได้ชี้แจงกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ของสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของ ทอ.จะมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ตามนโยบาย S curve 11 ของรัฐบาล เป็นหลัก โดยจะดำเนินโครงการตาม แนวทางการจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D) เน้นการสร้างภูมิปัญญา และ “สร้างงาน” ภายในประเทศ

กองทัพอากาศยังชี้แจงอีกว่า หากตัดงบประมาณโครงการเหล่านี้จะมีคนไทย “ตกงาน” จำนวนมาก เพราะเป็นโครงการที่มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมพัฒนาและผลิตชิ้นงานต่างๆ ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวถือเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คณะกรรมาธิการงบประมาณฯ เห็นชอบ และสนับสนุนงบประมาณตามที่กองทัพอากาศร้องขอ

พร้อมชื่นชมด้วยว่า การเสนอโครงการต่างๆของกองทัพอากาศ “เป็นตัวอย่างที่ดี”

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 หน้า 218 ข้อสังเกตเกี่ยวกับกระทรวงกลาโหม
จากเรื่อง “น่าชม” กลายเป็น “น่าชัง” ทันที เมื่อมีแนวนโยบายของ “จ่าฝูงคนใหม่” ในการจะเปลี่ยนแปลง “วัตถุประสงค์-สาระสำคัญ” โครงการที่ผ่านสภาฯและโปรดเกล้าฯอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 แล้ว

เป็นที่สังเกตเอกสารแทบทุกฉบับที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานของกองทัพอากาศที่เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย “กรมยุทธการทหารอากาศ – กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ – สํานักงานปลัดบัญชีทหารอากาศ” มักมี “คีย์เวิร์ด” ว่า “ตามสั่งการ ผบ.ทอ.” ทั้งสิ้น




ตั้งแต่คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและรวบรวมข้อมูล เพื่อทบทวนและปรับปรุง ขอบเขตความต้องการของโครงการ (SOPR) และ ขอบเขตของงาน (TOR) เดิมของ 3 โครงการ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.64 ก็มีได้มีการเสนอตามลำดับขั้น และไม่ได้มีการระบุถึง “เหตุผล” ที่ต้องตั้งคณกรรมการฯ

โดยใช้ “กำปั้นทุบดิน” ว่าแต่งตั้ง “ตามสั่งการ ผบ.ทอ.”
ต่างจากรูปแบบหนังสือราชการปกติที่ “เสนอเรื่อง-แทงเรื่อง” ด้วยถ้อยคำรื่นหูอย่าง “เพื่อกรุณาพิจารณาความความเหมาะสม”

การเลือกใช้คำแปร่งหูอย่าง “ตามสั่งการ ผบ.ทอ.” ย่อมสะท้อนถึงท่าที “ขัดขืน” ของ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” ไม่น้อย

ตามกระแสข่าวที่ว่า “ลูกน้องหลายคน” ไม่เล่นด้วย ด้วยรู้ดีว่า การเปลี่ยนแปลง “วัตถุประสงค์-สาระสำคัญ” โครงการที่ผ่านหน่วยงาน และรัฐสภาไปแล้วเป็น “เรื่องใหญ่” และเข้าข่าย “ผิดกฎหมาย”

ขืน “ตามน้ำ” ก็ไม่ต่างจากเอาเท้าแหย่คุกไปข้างหนึ่ง
การกำกับทุกคำสั่งไว้ว่า “ตามอนุมัติสั่งการ ผบ.ทอ.” จึงเสมือนเป็นการสร้าง “กลไกปกป้องตัวเอง” ให้หลุดสถานะ “จำเลย” เหลือแค่ “พยาน” ยามเป็นเรื่อง

ตามคิวที่มี “บัตรสนเท่ห์” ว่อน “ตึกแปดแฉก” กองบัญชาการทหารอากาศดอนเมือง ที่อ่านเกมขาดว่า ที่ “ใครบางคน” ยอม “เปลืองตัว” ลงมา “กำกับ” และ “สั่งการ” เองทั้งหมด ด้วยงานนี้มี “ผลประโยชน์มหาศาล”

ว่ากันไปถึงว่า ที่ชอบ “ของนอก” รังเกียจ “ของไทย” ก็เพราะ “ค่าคอมฯ” ต่างกันลิบลับ

หรือการที่ในช่วงการปรับปรุงรายละเอียดโครงการ หลายหน่วยงาน ต่างตั้ง “ข้อสังเกต” ถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง “สาระสำคัญ” ที่อาจขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการ จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 รวมทั้งกฎกระทรวงและประกาศต่างๆที่เกี่ยวข้อง


ตลอดจนกรณีที่โครงการผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ, สำนักงบประมาณ, กระทรวงกลาโหม, คณะกรรมาธิการฯ และคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่เกี่ยวข้องในการปกป้องงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้ว

มีการแทงเรื่องไปปรึกษา “สำนักงานพระธรรมนูญทหารอากาศ” สอบถามถึงการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และขอบเขตของทั้ง 3 โครงการ เมื่อวันที่ 3 มี.ค.64 โดยสำนักงานพระธรรมนูญทหารอากาศตอบกลับมาในวันที่ 9 มี.ค.64 ทั้ง 3 ฉบับ

มีความเห็นระบุว่า “...กรณีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และขอบเขตของโครงการฯ ครั้งนี้ไม่เคยปรากฎหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติ อีกทั้ง ทอ.ไม่เคยดำเนินการลักษณะเช่นนี้มาก่อน”

แปลความไม่ยากได้ว่า “ไม่เคยมีใครทำกัน” พร้อมแนะนำอีกว่า “...เพื่อให้การดำเนินการ... เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รอบคอบ และรัดกุม จึงเห็นสมควรเสนอคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 29”

หลังได้รับคำตอบเมื่อวันที่ 9 มี.ค.64 สำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารอากาศ เจ้าของเรื่องได้ทำหนังสือเรียนถึง “เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ” เพื่อดำเนินการตามข้อแนะนำของ สำนักงานพระธรรมนูญทหารอากาศ

แต่จากการตรวจสอบพบด้วยว่า ไม่มีการปฏิบัติตามคำแนะนำของสำนักงานพระธรรมนูญทหารอากาศที่ “ยืนยัน” ให้กองทัพอากาศต้องสอบถามไปยัง “หน่วยงานที่รับผิดชอบ” เสียก่อน

ไม่ต่างจากการ “ทราบ” แล้ว “ซุก” ทั้งที่เป็นข้อห่วงใย “ด้านกฎหมาย” จากฝ่ายกฎหมายของกองทัพอากาศเองเพราะปรากฏว่า เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศเซ็นรับเรื่องเมื่อวันที่ 12 มี.ค.64 สั่งการกลับมายัง สำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารอากาศ ว่า ปฏิบัติตามอนุมัติสั่งการ ผบ.ทอ. เมื่อวันที่ 12 มี.ค.64 และเสนอ สำนักงานพระธรรมนูญทหารอากาศ เพื่อทราบ

ซึ่ง “อนุมัติตามสั่งการ ผบ.ทอ. เมื่อวันที่ 12 มี.ค.64”ก็หมายถึง ลงนามอนุมัติขอบเขตความต้องการของโครงการ (SOPR) และ ขอบเขตของงาน (TOR) ใหม่ของ 3 โครงการ

ส่วนข้อสั่งการ ให้เสนอ สำนักงานพระธรรมนูญทหารอากาศ เพื่อทราบนั้น ก็แปลว่า โครงการที่สอบถามอนุมัติไปแล้ว โดยไม่ได้สอบถามคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐตามที่แนะนำมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลง “สาระสำคัญ” ของการจัดซื้อจัดหา “โดยพลการ” ไม่สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการ หรือการที่ “ระดับบิ๊ก” ลงมา “กำกับ” และ “สั่งการ” เองทั้งหมดอย่าง “ลุแก่อำนาจ”

โดยมีประจักษ์พยาน “ลายลักษณ์อักษร” ชัดเจน ด้วยข้อแคลงใจว่า อาจมีเอี่ยวกับ “ผลประโยชน์มหาศาล”
ทั้งหลายทั้งปวงน่าจะเป็น “ใบเสร็จ” ต่อยอดไปสำเร็จโทษ “ใครบางคน” ได้

และอาจจะเดือดร้อนไปถึง “เจ้ากระทรวงกลาโหม” ด้วย.



กำลังโหลดความคิดเห็น