ภาคประชาชนบุกสภาฯ ยื่นหนังสือถึง “ประธานชวน” ก่อนล่าหมื่นชื่อ แก้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ปกป้องเยาวชน และลดปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ปรับลงโทษทางปกครองคนดื่ม แทนการฟันผิดอาญา หลังพบกระบวนการล่าช้า
วันนี้ (1 ก.ค.) ที่อาคารรัฐสภา แยกเกียกกาย ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) นำโดย นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และภาคีเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้ายื่นหนังสือ ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผ่านทาง นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ เพื่อยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มขอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน มีการโฆษณาแฝง เลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยนำเสนอมาตรการที่เข้มแข็งมากขึ้น และยืนยันหลักการแก้ไขกฎหมายต้องทำให้กฎหมายมีความเข้มแข็งขึ้น ดีขึ้น ไม่ใช่ให้อ่อนแอลง
นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีการใช้มากกว่า13 ปี แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการใช้สื่อสมัยใหม่ การมีผู้ผลิตรายใหม่มากขึ้น แต่กลไกการบังคับใช้กฎหมายปี 2551 ยังไม่มีประสิทธิภาพ และยังไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ผลิตผู้ค้าผู้นำเข้ารายใหญ่ยังมีการทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้หน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว แต่ก็พบว่ามีภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จัดทำร่างกฎหมายเสนอเข้ามาเช่นเดียวกัน แต่เราเห็นว่าจากร่างที่เสนอเป็นการลดประสิทธิภาพในการควบคุม กลายร่างมาเป็นกฎหมายส่งเสริมการขายน้ำเมาแทน เช่น เสนอยกเลิกการห้ามโฆษณา ยกเลิกการห้ามลดราคา แจก แถม ให้ชิม ให้ขายเหล้าเบียร์ในมหาวิทยาลัยได้เป็นต้น ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงได้ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเช่นกัน เพื่อให้มีกฎหมายที่สามารถคุ้มครองและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น โดยมีผู้ริเริ่มร่วมกัน 28 คน จึงนำรายชื่อมาเสนอต่อประธานสภาเพื่อพิจารณา หากเห็นด้วยก็จะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศ รวมถึงเว็บไซต์ www.stopdrink.com หากประชาชนเห็นด้วยก็ลงชื่อสนับสนุน เมื่อได้เกิน 1 หมื่นรายชื่อก็จะนำเสนอร่างกฎหมายจากประชาชนต่อรัฐสภาอีกครั้ง
นายธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า โดยหลักการที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมาย ต้องให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันปัญหาได้ดีขึ้น ซึ่งไทยเคยได้รับการชื่นชมและอยู่ในการจับตาของระดับนานาชาติ โดยเพิ่มโทษทางการปกครอง อีกทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมควบคุมแอลกอฮอล์มากขึ้น และข้อกฎหมายต่างๆ ต้องชัดเจนไม่มีปัญหาการทำความเข้าใจกฎหมาย เพื่อให้เกิดผลบังคับนำไปสู่การคุ้มครองประชาชนได้มากขึ้น ภาคประชาสังคมสนับสนุนสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากฎหมายที่ปกป้องเยาวชน และสังคม ตามเจตนารมณ์เดิมของการมีกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น ไม่ควรไปสนับสนุนการแก้ไขกฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ที่กำลังมีความพยายามเสนอกันอยู่ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ไม่ยอมให้ผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน มาเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือกฎหมายควบคุมปัจจัยเสี่ยง
ด้านนายชูวิทย์ จันทรส ภาคีป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) กล่าวว่า ในการเสนอแก้ไขของฉบับภาคประชาชนป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีประเด็นสำคัญโดยเฉพาะมาตรา 32 เรื่องการควบคุมการโฆษณา จะเขียนเนื้อหาให้จำแนกแยกแยะ ถึงขั้นการใช้ตราเสมือน เพราะปัจจุบันพบผู้ผลิตใช้ตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปผลิตสินค้าอื่นในเครือ เช่น น้ำดื่ม โซดา และเชื่อมโยงสู่สินค้าแอลกอฮอล์ จึงต้องเขียนให้ชัด รวมถึงการให้สปอนเซอร์ การให้ทุนอุปถัมภ์ ต้องเขียนรูปแบบทุนอุปถัมภ์ให้ชัดขึ้น นอกจากนี้ ในเรื่องของการลงโทษผู้ดื่มควรแก้ไขให้เป็นโทษทางปกครอง พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการเปรียบเทียบปรับได้เลย เพราะกฎหมายฉบับเดิมถือเป็นโทษอาญา ต้องใช้เวลานานเพราะต้องผ่านทั้งตำรวจ อัยการ และศาล เป็นต้น รวมทั้งการกำหนดหน้าที่ของผู้ขายทั้งประเภทไม่ดื่มที่ร้าน และดื่มที่ร้าน ที่ต้องถูกระงับใบอนุญาตขายสุราชั่วคราว การให้สิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับอันตรายทางกาย ชีวิต ทรัพย์สินจากผู้ขับขี่ที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยถือเป็นคดีผู้บริโภค มีมาตรการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูผู้มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกสถานพยาบาล ซึ่งชุมชนหรือองค์กรเอกชนเป็นผู้ริเริ่ม ยกเลิกบทลงโทษอาญาในบางกรณีโดยบัญญัติเป็นโทษปรับทางปกครอง หรือการทำงานบริการสังคมหรือเพื่อสาธารณประโยชน์แทน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมีการจัดประชุมสมัชชาเครือข่ายควบคุมแอลกอฮอล์ เป็นต้น
“พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีเนื้อหาที่ยังไม่ครอบคลุมปัญหาในปัจจุบัน อำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ มีข้อจำกัดหลายประการ อีกทั้งขณะนี้ยังพบว่าประเทศไทยมีการออกใบอนุญาตขายสุราของกรมสรรพสามิตในสัดส่วนสูงติดอันดับโลก คือ ราว 589,000 ใบอนุญาต ซึ่งส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย และไม่สามารถลดอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จำเป็นต้องมีการแก้ไขให้กฎหมายเข้มแข็งขึ้น” นายชูวิทย์ กล่าว
นายเจษฎา แย้มสบาย ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคนเมาแล้วขับ กล่าวว่า ตนเป็นแบบนี้ย่อมสัมพันธ์กับการขายและดื่มที่ไม่รับผิดชอบ ดังนั้น หากการปรับแก้ไขกฎหมายใดๆ โดยหลักการต้องทำให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ทำให้แย่ลง อย่าลืมว่ากฎหมายฉบับนี้ มีเจตนารมณ์สำคัญในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ คุ้มครองสุขภาพประชาชน และลดผลกระทบทางสังคม แต่สิ่งที่ธุรกิจเสนอแก้ไข กลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับเจตนารมณ์โดยสิ้นเชิง เป็นร่างกฎหมายที่ส่งเสริมให้ขายให้ดื่มมากกว่าที่จะควบคุม ส่วนตัวตนอยากให้มีการแก้ไขให้เหยื่อเมาแล้วขับสามารถฟ้องแพ่งเอาผิดกับร้านเหล้าผับบาร์ ที่ขายให้คนเหล่านั้นแล้วมาก่อเหตุ ต้องทำให้คนขายรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ใช่ลอยตัวเหนือปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนอื่น