เปิดโปรเจกต์น้ำ “กองทัพบก” จ่อขอ กนช. 1.1 พันล้าน ขุด 9 บ่อบาดาลขนาดใหญ่ พ่วงเครื่องมือสำรวจ พัฒนา วิเคราะห์คุณภาพน้ำ เน้นแก้ปัญหาภัยแล้ง ช่วยชาวบ้าน 18,420 ครัวเรือน ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค/น้ำการเกษตร เผยเฉพาะงบจัดซื้อครุภัณฑ์ 38 ชุดกว่า 741 ล้านบาท เตรียมชง กนช.ชุดใหญ่ 28 มิ.ย.นี้
วันนี้ (24 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพบก (ทบ.) กระทรวงกลาโหม ได้นำเสนอโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ ต่อคณะทำงานกลั่นกรองโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ
ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ชุดใหญ่ ในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 64 (28 มิ.ย. 64) นี้
พบว่า เป็น 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่ 1 โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดย ทบ. เสนอโครงการฯ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณโครงการฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤตภัยแล้ง จำนวน 9 โครงการ งบประมาณ 491.2 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่เป้าหมายแล้วเสร็จ ประชาชนสามารถมีน้ำต้นทุน เพื่อการอุปโภคบริโภค ปริมาณน้ำไม่น้อยกว่า 4.6648 ล้าน ลบ.ม./ปี ประชาชนได้ประโยชน์ 18,420 ครัวเรือน และพื้นที่ได้รับประโยชน์ 192,109 ไร่
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว ทั้ง 9 โครงการ ไม่มีการแจ้งถึงพื้นที่การขุดเจาะแต่อย่างใด
“โครงการดังกล่าวถือว่า เป็นโครงการเดิมที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และสำคัญ ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุเป็นโครงการสำคัญ เมื่อเดือน พ.ค. 2564 แล้วอยู่ในขั้นตอน สำนักงบระมาณ พิจารณาการสนับสบุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการโครงการฯในอนาคต"รายงานจากอนุกรรมการฯระบุ
โครงการที่ 2 เป็น “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจ พัฒนา และวิเคราะห์คุณภาพน้ำบาดาล สำหรับแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ เพื่อประชาชน”
โครงการนี้ ทบ. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อรายการครุภัณฑ์ จำนวน 38 ชุด วงเงินงบประมาณ 741,872,000 บาท เพื่อการบรรเทาปัญหาการชาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค และปัญหาเร่งด่วน ด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย
ชุดเจาะสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลระดับลึก 500 เมตร พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 4 ชุด วงเงินงบประมาณ 348,000,000 บาท ,เครื่องสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าแบบ 1 มิติพร้อมติดตั้งบนยานพาหนะ จำนวน 8 ชุด วงเงินงบประมาณ 23,200,000 บาท
เครื่องสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีวัดค่าความต้านทานไฟฟ้าแบบภาคตัดขวาง (2 มิติ) พร้อมติดตั้งบนยานพาหนะ จำนวน 3 ชุด วงเงินงบประมาณ 19,500,000 บาท ,เครื่องอัดอากาศสำหรับการเจาะบ่อนํ้าบาดาล จำนวน 5 ชุด วงเงินงบประมาณ 82,400,000 บาท
ยังรวมถึง รถตรวจคุณภาพน้ำเคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์วิเคราะห์นํ้า จำนวน 2 ชุด วงเงินงบประมาณ 46,600,000 บาท ,เครื่องหยั่งธรณีหลุมเจาะพร้อมติดตั้งบน ยานพาหนะ จำนวน 4 ชุด วงเงินงบประมาณ 18,072,000 บาท
ยังมี ชุดสูบทดสอบปริมาณนํ้าแบบเทอร์ไบน์ พร้อมติดตั้งบนยานพาหนะ จำนวน 10 ชุด วงเงินงบประมาณ 180,000,000 บาท และชุดสูบทดสอบปริมาณนํ้าบาดาลแบบจุ่มใต้นํ้า (Submersible Pump) พร้อมติดตั้งบนยานพาหนะ จำนวน 2 ชุด วงเงินงบประมาณ 24,000,000 บาท
“สำหรับโครการนี้ เนื่องจากการจัดหาครุภัณฑ์ ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานฯ เห็นควรให้นำเรื่องเสนอเพื่อจัดลำดับ ความสำคัญ ขอรับจัดสรรงบกลางตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ต่อคณะอนุกรรมการ และ กนช.ต่อไป"รายงานจากอนุกรรมการ ระบุสุดท้าย
เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กองทัพบก โดยหน่วยช่างจาก กองทัพภาคที่ 1-4 และกรมการทหารช่าง ได้เข้าดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลตามนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล หลังรัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 1,103 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้รับงบประมาณ 1,301 ล้านบาท
“มีหน่วยงาน ที่ขุดเจาะ ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 704 แห่ง, หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 190 แห่ง และ กองทัพบก 209 แห่ง ในพื้นที่เร่งด่วน 7 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง”