“ประยุทธ์” ขอบคุณเหล่าทัพช่วยคลี่คลายโควิด บรรเทาความเดือดร้อน ปชช. ประชุม ผบ.เหล่าทัพ อัปเดตขีดความสามารถไซเบอร์ รับมือรบมิติที่ 5 ทร.พัฒนาระบบบังคับบัญชาการรบเชื่อม 2 ชายฝั่งอ่าวไทย-อันดามันปี 65 สำเร็จ
วันนี้ (23 มิ.ย.) พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยมี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วม ณ กองบัญชาการกองทัพอากาศ พล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า ผบ.สส.แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความขอบคุณ กองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ทุ่มเทเสียสละทำให้ภารกิจต่างๆ ของรัฐบาลคลี่คลายไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การจัดรถรับ-ส่งเคลื่อนย้ายผู้ติด การแจกจ่ายอาหารเพื่อสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการบริจาค ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนได้เป็นอย่างมาก
กองทัพได้ดำเนินการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตั้งแต่แนวชายแดนเข้ามาจนถึงพื้นที่ตอนใน โดยใช้กำลังป้องกันชายแดนทำการตั้งจุดตรวจจุดสกัดการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ เสริมด้วยการใช้ยุทโธปกรณ์พิเศษในการลาดตระเวนเฝ้าตรวจ เช่น โดรนลาดตระเวนทางอากาศ กล้อง CCTV และกล้องตรวจจับความเคลื่อนไหวบริเวณช่องทางตามธรรมชาติในพื้นที่เสี่ยง การใช้เครือข่ายภาคประชาชน และผู้นำหมู่บ้าน แจ้งเบาะแส และข่าวสารและตามที่ พร้อมมีศูนย์สั่งการจังหวัดชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (ศส.ชท.) บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ซึ่ง ผบ.สส. ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการปฏิบัตินโยบายชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (ผอ.นชท.) ได้มอบแนวทางการปฏิบัติของส่วนราชการตามกลไกของ กอ.นชท. เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการชายแดนฯ โดยเน้นย้ำให้กำลังทหารในพื้นที่กองทัพภาค ทัพเรือภาค และกองกำลังป้องกันชายแดนต่างๆ สนับสนุนการปฏิบัติของ ศส.ชท. จังหวัดทั้งในพื้นที่ชายแดนทางบก และทางทะเล โดยในระดับส่วนกลาง กอ.นชท. จะช่วยกำกับดูแลและขับเคลื่อนงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น เช่น การบูรณาการด้านการข่าว ติดตามการสืบสวน สอบสวน ดำเนินคดี การนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบ
ในเรื่องการเตรียมการรับทหารใหม่ที่กำลังจะเข้ามาประจำการในวันที่ 1 ก.ค. 2564 นี้ กองทัพได้เตรียมมาตรการควบคุมและป้องกันโรค รองรับในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกเหล่าทัพ โดยมีมาตรการเริ่มตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของหน่วยฝึกและกำลังพลครูฝึก กระบวนการรับตัวทหารใหม่จากภูมิลำเนา ณ ตำบลต้นทาง การปฏิบัติและมาตรการควบคุมระหว่างการเคลื่อนย้าย จนถึงตำบลปลายทางเข้าที่ตั้งหน่วยฝึกทหารใหม่ที่กำหนด และมาตรการควบคุมการปฏิบัติในห้วงระหว่างการฝึก ทั้งนี้ หน่วยฝึกทหารใหม่ทุกหน่วยมีมาตรการที่สำคัญ คือ จะทำลักษณะหน่วยฝึกให้เป็น Bubble and Seal ทุกหน่วย ครูฝึกทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนก่อนแล้วและทำการกักตัวตามมาตรฐานที่กำหนดก่อนที่ทหารใหม่จะเข้าหน่วย/ทหารใหม่ที่เข้ามา 14 วันแรกจะยังไม่ฝึก จะเป็นการเฝ้าสังเกตุอาการ และทหารใหม่จะได้รับการฉีดวัคซีนทุกคน
ที่ประชุมได้รับทราบภาพรวมของการปฏิบัติการทางไซเบอร์ของกองทัพไทยในปัจจุบันที่ได้กำหนดให้มิติทางไซเบอร์เป็นมิติที่ 5 ของการรบ นอกเหนือจากมิติทางบก มิติทางน้ำ มิติทางอากาศ และมิติทางอวกาศ โดยศูนย์ไซเบอร์ทหาร และศูนย์ไซเบอร์เหล่าทัพ ได้ร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถของการปฏิบัติการทางไซเบอร์ ให้มีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามในทุกรูปแบบ
ในขณะที่ กองทัพบก ได้นำเสนอการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในภาคเหนือ โดยได้จัดตั้งกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า เพื่อบูรณาการกับส่วนราชการในพื้นที่ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ดีขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบแนวคิดการปฏิบัติการสำหรับสงครามที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Warfare) ของ กองทัพเรือ ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้และพัฒนา โดยหากเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2565 จะทำให้กองทัพเรือมีระบบควบคุมการบังคับบัญชาที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งมหาสมุทร 3 พื้นที่ปฏิบัติการ และพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด
สำหรับ กองทัพอากาศ ได้ยืนยันถึงขีดความสามารถด้านการข่าวกรองในการเฝ้าตรวจลาดตระเวน และการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางสนับสนุนภารกิจการดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยได้จัดอากาศยานไร้คนขับ Aerostar ทำการบินลาดตระเวนค้นหาจุดเกิดไฟป่า และส่งภาพ Video Downlink แบบ Near Real Time มายังกองบัญชาการและควบคุมฯ เพื่อยืนยันเป้าหมายจุดเกิดไฟป่า ทำให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าภาคพื้นสามารถเข้าพื้นที่ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น
ทางด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค รับผิดชอบดูแลในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับสินค้าควบคุมสลาก วัตถุอันตราย ขายตรง สินค้าที่ต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องสำอาง อาหาร และยา โดยมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วน 1135 และเพจเฟซบุ๊ก กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค