xs
xsm
sm
md
lg

กสม.จับมือคกก.สมานฉันท์ ลงพื้นที่เกาะติดม็อบพรุ่งนี้ ดูเรื่องคุ้มครองเสรีภาพปัดหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.จับมือคกก.สมานฉันท์ เตรียมลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุม 24 มิ.ย. ยันไม่ได้เป็นการสนับสนุนการชุมนุม ทำตามหน้าที่ติดตามภารกิจดูว่ามีเสรีภาพในการชุมนุมได้รับการคุ้มครองหรือไม่

วันนี้(23มิ.ย.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่าจากที่ได้ร่วมหารือกับคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. กรณีกลุ่มต่าง ๆ นัดหมายชุมนุมสาธารณะเพื่อแสดงท่าทีหรือข้อเรียกร้องทางการเมืองตามพื้นที่ต่างๆในวันที่ 24 มิ.ย. นั้น  ต่างเห็นพ้องกันว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นรากฐานในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการใช้เสรีภาพดังกล่าวบนหลักการสันติวิธี ทั้งสององค์กรจึงเห็นร่วมกันว่า ควรส่งผู้แทนลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์และติดตามการชุมนุมในวันดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมโดยตรง

ซึ่งกสม.ได้มอบหมายน.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ และนางปรีดา คงแป้น กสม. พร้อมเจ้าหน้าที่ เป็นผู้แทนลงพื้นที่ ขณะที่คณะกรรมการสมานฉันท์ได้มอบหมายให้ ศ.เกียรติคุณ สุริชัย หวันแก้ว และ รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ กรรมการสมานฉันท์ เป็นผู้แทนลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมในเขตกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้กสม. และคณะกรรมการสมานฉันท์ยืนยันว่า การลงพื้นที่สังเกตการณ์ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มใดหรือสนับสนุนความเห็นทางการเมืองของฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่เป็นการปฏิบัติงานตามภารกิจ เพื่อติดตามว่า เสรีภาพในการชุมนุมได้รับการคุ้มครองหรือไม่ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลการชุมนุมและการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ วิธีการที่ใช้ในการควบคุมการชุมนุมเป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์หรือไม่ ขณะเดียวกันการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์หรือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศของกสม. ตามมาตรา 33 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และตามนโยบายของ กสม. ชุดปัจจุบันที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม การส่งเสริมวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน ที่เคารพความแตกต่างในความคิดเห็น การเคารพสิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบของกฎหมาย อันจะนำไปสู่ความปรองดองในสังคม การไม่เลือกปฏิบัติ  ไม่ใช้ถ้อยคำที่แสดงถึงการดูถูก ดูหมิ่น หรือสร้างความเกลียดชัง หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น




กำลังโหลดความคิดเห็น