วันนี้(23 มิ.ย.)นายธวเดช ภาจิตรภิรมย์ หัวหน้าพรรคแนวทางใหม่ กล่าวว่า การระบาดของโควิด 19 กำลังเข้าสู่สถานการณ์ใหม่แล้ว ซึ่งพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้ก็คือภาคใต้ เนื่องจากพบการแพร่ระบาดในชุมชนมัรกัส บ้านเปาะยานิ ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 402 ราย ล่าสุด กระจายไปใน 12 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงจังหวัดสงขลาที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือเรียกว่าได้รุกเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจ ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่า การระบาดครั้งนี้เป็นการพบเชื้อกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เบตา หรือสายพันธุ์แอฟริกา ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ การแพทย์ของเราเองก็ยอมรับว่า ศักยภาพของวัคซีนชิโนแวค แม้จะได้รับครบแล้วทั้ง 2 เข็มก็ไม่สามารถสู้กับสายพันธุ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายธวเดช กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์ใหม่ ตนคงต้องกล่าวคำให้กำลังใจไปยังทุกท่านที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันเลวร้ายอีกครั้ง รวมถึงให้กำลังและขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกคนที่สู้อย่างอดทนในการเผชิญกับงานหนัก เสี่ยง และตึงเครียดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาซึ่งเมื่อสถานการณ์วิกฤติขึ้นก็หมายความว่าทุกท่านต้องอยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่พอจะช่วยให้สถานการณ์เฉพาะหน้าดีขึ้นได้บ้างคงเป็นการสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างสบายใจมากขึ้นหรือต้องทำให้เป็นการทำงานในภาวะเสี่ยงน้อยที่สุด อีกทั้งหากเกิดการระบาดขึ้นในบุคลากรทางการแพทย์ก็จะทำให้พื้นที่ขาดกำลังสำคัญในการดูแลผู้ป่วยซึ่งจะมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่านี้อีกอย่างแน่นอน
นายธวเดช ยังกล่าวต่อว่า เบื้องต้นเรื่องที่อยากวอนขอไปยังรัฐบาลก็คือ การจัดหาวัคซีนเข็มที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพสูงพอจะสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆที่ชิโนแวคสู้ไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อังกฤษ อินเดีย หรือแอฟริกา ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้คงไม่ใช่เวลาสำหรับการมองหาคนถูกหรือผิด แต่คือเวลาของการจัดการปัญหาให้เร็วที่สุด นั่นก็คือต้องการดูแลรักษาบุคลากรหน้างานเอาไว้ให้ได้ ตนเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นความปรารถนาของรัฐบาลเช่นกัน
"ในอีกเรื่องหนึ่ง ผมอยากให้มีการจัดงบประมาณที่มากขึ้น เช่น งบกลางฉุกเฉินเพื่อจัดหาและเตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤติเพื่อให้มีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น เช่น การจัดหาเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) เพิ่มไปให้โรงพยาบาลต่างๆ เพราะจะทำให้ผู้ที่มีภาวะหายใจล้มเหลว หรือมีภาวะพร่องออกซิเจนสามารถฟื้นฟูตัวเองได้โดยไม่ต้องสอดท่อช่วยหายใจหรือเข้าไปรักษาในไอซียูเท่านั้น นี่จึงเป็นอีกเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีความต้องการใช้สูงมากในช่วงนี้แต่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในหลายโรงพยาบาล หากมีเครื่องมือนี้มากขึ้นอย่างน้อยก็อุ่นใจและจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยวิกฤติที่ในห้องไอซียูลงได้"นายธวเดช กล่าว