“ดร.แรมโบ้” สุดทนสวนกลับ “สมหมาย” ระวังตกนรกตอนแก่ อย่าหัวเราะเยาะเย้ยนายกฯที่กล้าตัดสินใจแก้หนี้สินให้กับคนไทย เป็นถึงอดีต รมว.คลัง น่าจะเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน มากกว่าจะมาขำหรือพูดลักษณะดูถูกประชาชนที่เป็นหนี้สิน
วันนี้ (22 มิ.ย.) นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิพากษ์วิจารณ์การแก้หนี้ของนายกฯ โดยอ้างว่า ได้ฟังข่าวทางทีวี ซึ่งไม่รู้ว่าช่องไหน แล้วทึกทักว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาหนี้ของประชาชนทั้งประเทศให้เสร็จภายใน 6 เดือน แล้วเก็บไปขำ โดยไม่มองว่าเป็นเหยื่อการเสนอข่าว โดยไม่ตรวจสอบให้ชัดเจน จึงอยากแนะนำให้กลับไปฟังนายกฯ แถลง ไม่ใช่เชื่อตามรายงานข่าวโดยสนิทใจ แล้วมาวิจารณ์ผู้อื่นจนเกิดความเสียหาย
หากไม่มีเวลา ตนก็ขอสรุปให้ฟังว่า สิ่งที่นายกฯ แถลงนั้น เป็นการย้ำว่า นายกฯ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนในทุกกลุ่ม เพราะเป็นหนี้กันจำนวนมาก เป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วส่งผลกระทบไปตลอดชีวิตที่เหลือ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนนั้น จึงถือว่าเป็นนโยบายสำคัญที่นายกฯ พยายามทำมาโดยตลอด ในภาพรวมแล้วผลจากความตั้งใจทำงานของนายกฯ และรัฐบาล จะเห็นว่า “หนี้ครัวเรือน” ก่อนปี 2557 มีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 88,000 ล้านบาท แต่หลังจากปี 2557 ถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มขึ้นเดือนละ 50,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ นายกฯ ได้เล่าหลักคิดและแนวทางอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถ้าได้ฟังเองจนครบ ก็จะเข้าใจว่า นายกฯ เห็นปัญหาหนี้ในภาพรวม แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เช่น หนี้ กยศ. 3.6 ล้านคน และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และหนี้สินอื่นๆ อีก 51.2 ล้านบัญชี จากนั้นก็ได้อธิบายมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ทั้งระยะสั้นและระยะต่อไป โดยมาตรการระยะสั้น ให้เร่งทำทันทีภายใน 6 เดือน ไม่ใช่แก้ให้เสร็จ ซึ่งต้องสร้างกลไกการทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว แล้วค่อยๆ แก้กันไป ช้าเร็วขึ้นอยู่กับความร่วมมือของแต่ละคน โดยมีมาตรการสำคัญๆ เช่น การลดภาระดอกเบี้ย ทั้งในส่วนสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อ PICO และ NANO สำหรับประชาชน การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครู ข้าราชการ และสหกรณ์ การปรับรูปแบบการชำระหนี้ การคุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ รวมทั้งให้ ธปท.ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน
นอกจากเรื่องดอกเบี้ยแล้ว ยังมีมาตรการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์ มีการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs เช่น จัดให้มี soft loan สำหรับ SME ที่เป็น NPL เพื่อต่อลมหายใจ พลิกกลับมาทำธุรกิจต่อไปได้ ส่วนการเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำ/โรงรับจำนองนั้น นายสมหมายฯ เป็นถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องเข้าใจกว่าใครๆ ว่า โรงจำนำ/จำนองเป็นที่พึ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือปานกลาง ที่มีโอกาส “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” ได้เสมอ เขาเพียงต้องการกู้เงินระยะสั้น เงื่อนไขน้อย วงเงินหลักพัน-หลักหมื่น ไม่ใช่หลักแสน-หลักล้าน ซึ่งคิดดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.25% ถึง 1.25% ต่อเดือน เพื่อแก้ขัดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ช่วงเปิดเทอม ยามป่วยไข้ ขายของขาดทุน หรือลงทุนเพิ่ม ซึ่งถ้าไม่มีแหล่งทุนคนจนของรัฐนี้แล้ว ก็เหมือนกับผลักให้คนยากคนจนไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ หรือให้นายทุนปล่อยเงินกู้ขูดรีด โดยมีนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวไว้ว่า การเพิ่มจำนวนสาขาโรงรับจำนำ เป็นการให้ “ทางเลือก” แก่ผู้ต้องการกู้เงินไม่น่าจะเสียหายอะไร แต่ตนเห็นว่าเป็น “ทางรอด” ที่ไม่ใช่การซ้ำเติมทุกข์ของประชาชน ตามที่มีการเสนอข่าวบิดเบือน
ยิ่งกว่านั้น นายกฯ ยังนำเสนอมาตรการระยะต่อไป เช่น เร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่หรือคนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะออกมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยและค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ และการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน เพื่อชะลอการฟ้องและอำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย เป็นต้น
ในความเป็นจริงหนี้สินของแต่ละกลุ่ม ก็จะมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพอยู่แล้ว เพียงแต่นายกฯ จะดูแลในระดับนโยบาย ภาพกว้าง ที่ต้องมีผลบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ เช่น กฎหมายขายฝากที่ช่วยคุ้มครอง ให้ความเป็นธรรม ไม่ให้ผู้จำนองถูกยึดที่ดินเหมือนในอดีต กฎหมายทวงหนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ลูกหนี้และขจัดวงจรผู้มีอิทธิพล และกฎหมายปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและวิธีคิดดอกเบี้ยที่ใช้มาแล้ว 95 ปี (พ.ศ.2468 จนถึงปัจจุบัน) เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบและสอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น กรณีที่สัญญาเงินกู้ไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ เดิมสามารถคิดดอกเบี้ยอัตราคงที่ 7.5% ต่อปี ให้แก้เป็น 3% ต่อปี ส่วนกรณีผิดนัดชำระหนี้ เดิมคิดดอกเบี้ยอัตราคงที่ 7.5% ต่อปี แก้เป็น 5% ต่อปี โดยให้คำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้น เฉพาะงวดที่ผิดนัดเท่านั้น ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมด
ดังนั้น น่าจะหมดคำถามในเรื่องความรู้ความเข้าใจ เรื่องเศรษฐกิจการเงินการคลังของนายกฯ คนที่นายสมหมายกำลังกล่าวหา ยิ่งกว่านั้น ตนอยากจะบอกว่า นายกฯ คนนี้ที่สนับสนุนการทำบัญชีครัวเรือน ผลักดันกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพราะอยากให้ทุกคนมีบำนาญใช้ตลอดชีวิต รวมทั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยมีกองทุนเงินให้กู้ยิมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบเงินสนับสนุน ไม่ใช่เงินกู้ สำหรับคนยากจนจริงๆ ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาของประเทศ อีกด้วย
และตนอยากจะบอกอีกว่า ด้วยวิสัยทัศน์นายกฯ คนนี้ใช่หรือไม่ ที่ผลักดันการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ “ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ” หรือ National e-Payment ของรัฐบาล ร่วมกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทำให้คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับบริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ หรือ พร้อมเพย์ (Prompt pay) ตั้งแต่ปี 2560 นอกจากจะค่าธรรมเนียมถูกมากๆ แล้ว รัฐบาลยังประหยัดค่าใช้จ่ายปีละหลักหมื่นล้านบาท ในการขนส่งเงิน การรักษาความปลอดภัย การผลิตเงิน เป็นต้น ที่สำคัญ ในยามวิกฤตโควิดนี้ โครงการต่างๆ เช่น เราชนะ คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมทั้งการค้าขายออนไลน์ ก็ขยายผลมาจากการใช้เงินดิจิทัลทั้งสิ้น ซึ่งโปร่งใส ตรวจสอบได้ ขจัดการทุจริต และคนไทยก็เริ่มปรับตัวใช้จ่ายเงินดิจิทัลมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
วันนี้ ตนจึงอยากให้นายสมหมายทบทวนดูใหม่ว่าการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจไร้อคติหรือ ลองทบทวนดูว่าได้คิดให้รอบคอบและไม่บุ่มบ่าม ตามที่นายสมหมายเคยมีบทเรียนมาในอดีตหรือไม่ อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ที่ตัดสินใจผิดพลาดจนเกือบติดคุก แต่อยากให้ช่วยติดตามผลงานรัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ เชื่อว่า นายกฯ พร้อมรับฟังทุกความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
นายเสกสกล กล่าวทิ้งท้ายว่า “อย่าเอาอคติ ความน้อยใจความโกรธ ที่นายกฯ ปรับออกจาก ครม.การได้เป็น รมว.คลัง จากการสนับสนุนของนายกฯ ก็ถือว่า นายกฯ ให้เกียรติว่าเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีความรู้ความสามารถ คนเราต้องรู้จักน้ำใจที่มีให้กันบ้าง อย่าทำตัวเป็นคนที่ใช้อัตตา เพราะความโลภ โกรธ หลง ใช้ความโมโห จนกลายเป็นคนพาล ทำตัวเป็นฝ่ายค้านไป อย่าลืมว่าคนเป็นหนี้ คนยากจนทุกข์แสนสาหัสอย่างไร นายสมหมาย ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้เดือดร้อนด้วย จึงขอย้ำอีกครั้งว่า อย่าเอาความผิดหวังของตัวเองมาเหยียบย่ำหัวเราะเยาะเย้ยคนจนคนที่เป็นหนี้เป็นสินเลย การที่นายกฯ กำลังจะแก้ไขปัญหาให้คนเป็นหนี้ทั้งหลาย โปรดอย่าทำลายความตั้งใจของนายกฯ ที่มีความหวังตั้งใจจริง ต้องการให้คนไทยหมดหนี้หมดสินโดยเร็วจะสำเร็จมากน้อยดีกว่ายืนดูบนหอคอยงาช้าง และยืนหัวเราะเยาะเย้ยแบบไม่ไยดีของนายสมหมาย พี่น้องประชาชนคนยากจนคนเป็นหนี้เป็นสิน จะสาปแช่งนายสมหมายให้ไปตกนรกตอนแก่ได้ ให้พึงระวังคำพูดคำจาไว้ด้วย”