“ส.ว.สถิตย์” อภิปรายร่าง พ.ร.ก.กู้เงินแก้ไขปัญหาผลกระทบโควิด-19 แนะกู้ในประเทศป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและปัญหาการเจรจาเจ้าหนี้ต่างประเทศ
เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564 ในการประชุมวุฒิสภา ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปราย พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ใจความว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2563 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ได้ประมาณการเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัวเกือบร้อยละ 7.1 แต่ปรากฎว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวลงเพียง ร้อยละ 6.1 ส่วนหนึ่งย่อมมีผลจากงบเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
สำหรับการกู้ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ฯ พ.ศ. 2564 หากมีการกู้เต็มวงเงินแล้ว หนี้สาธารณะของประเทศ จะอยู่ที่ร้อยละ 58.56 ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในกรอบวิจัยการเงินการคลังซึ่งกำหนดไว้ว่าหนี้สาธารณะของประเทศต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี ซึ่งเป็นการกำหนดตามขั้นตอนของการพัฒนาของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาระดับกลาง ประเทศที่พัฒนาแล้วกู้เงินได้มากกว่านี้มากเพราะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากกว่า เช่น ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะ ร้อยละ 237 ต่อจีดีพี สหรัฐอเมริกามีหนี้สาธารณะ ร้อยละ 108 ต่อจีดีพี สิงคโปร์มีหนี้สาธารณะ ร้อยละ127 ต่อจีดีพี เป็นต้น
ตามมาตรา 3 ของ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เป็นเงินบาทหรือเป็นเงินตราต่างประเทศ ส.ว. สถิตย์ เสนอให้กู้เป็นเงินบาททั้งหมด เพราะสภาพคล่องในประเทศเพียงพอ ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงในการเจรจากับเจ้าหนี้ ในกรณีถึงกำหนดชำระแล้วยังมีปัญหาในการเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้
ส.ว. สถิตย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าแผนงานตาม พ.ร.ก. เงินกู้ฯ พ.ศ. 2564 ประกอบด้วยการใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข 30,000 ล้านบาท การใช้จ่ายเพื่อการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ 300,000 ล้านบาท และการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 170,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มาตรา 6 ของ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ฉบับนี้ ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีสามารถปรับวงเงินกู้ดังกล่าวได้ภายในวงเงินกู้ทั้งหมดไม่เกิน 500,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุที่เป็นการก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งต้องชดใช้คืนในอนาคต ส.ว. สถิตย์ จึงเสนอว่า หากงบเงินกู้เพื่อการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ดำเนินการได้ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ควรปรับวงเงินเพื่อให้การใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้รับมากขึ้น และควรใช้จ่ายในการฟื้นฟูที่เป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร ซึ่งครอบคลุมประชากรประมาณ ร้อยละ 38 ของครัวเรือนทั้งหมด และไม่ควรแค่นำโครงการที่ตกหล่นจากงบประมาณปกติมาขอใช้เงินกู้ แต่ควรกำหนดเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่าการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรเอกลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ เกษตรแปรรูป หรือเกษตรอัจฉริยะ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเช่นนี้จะทำให้คนส่วนใหญ่มีรายได้มากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำไปในตัว
ที่สำคัญ การใช้งบเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นจะเป็นการสร้างรายได้ให้ประชาชนมากขึ้น เศรษฐกิจจะเติบโตมากขึ้น ส่งผลให้รัฐมีรายได้มากขึ้นและมีส่วนในการชำระหนี้ในอนาคตได้ในที่สุด