ผู้ประกอบการร้านอาหารไทย โร่ขอคำแนะนำ “กรณ์-วรวุฒิ” ก่อนตัดสินใจกู้เงิน จากมาตรการช่วยเหลือกระทรวงพาณิชย์ หวั่นเผาเงินตัวเอง หากรัฐมุ่งแก้ปัญหาระยะสั้น แนะรัฐเป็นหนี้ทางเดียว ประเทศชาติเดินได้ แต่ถ้าโยนหนี้มาภาคประชาชน อนาคตตายหมู่
สมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ดรวมตัวกัน จัดคลับเฮาส์เพื่อขอความเห็นและข้อเสนอแนะจาก นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และ นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค ในฐานะกูรูทางการเงิน และกูรูด้านอีคอมเมิร์ซ ที่สร้างธุรกิจเอสเอ็มอี สู่ธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรง ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร ก่อนยื่นกู้เงินจากกระทรวงพาณิชย์ที่มี
โดย นายกรณ์ กล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็น รมว.คลัง ก็พยายามผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายเท่าที่เราจะทำได้ ที่ผ่านมาพยายามสื่อสารไปถึงฝ่ายบริการงบประมาณ งบประจำหรืองบเงินกู้ ที่ต้องหันมาช่วยผู้ประกอบการโดยตรงมากขึ้น ปีที่แล้วที่มา พ.ร.ก เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำออกมา แต่โครงสร้างเงื่อนไขไม่เอื้อต่อคนตัวเล็ก มาครั้งนี้แบงก์ชาติ ได้ปรับเป็นโครงการ “จับคู่กู้เงิน” ที่ดูเหมือนมีความหวังมากขึ้นในการเข้าถึงการกู้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินก็ต้องทำหน้าที่ของเขาตามกฎเกณฑ์พิจารณาถึงแผนธุรกิจ กระแสเงินสด รวมไปถึงโอกาสการสร้างรายได้ ตรงนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่ท้าทายกับร้านอาหารซึ่งมีเกือบ 3 แสนล้านแห่งทั่วประเทศ บางร้านอาจจะยังเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ซึ่งต้องมาดูว่ามีประเด็นอะไรที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเรื่องเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ และลดค่าใช้จ่าย เพราะตอนนี้ข้อจำกัดก็มีมาก ทั้งเรื่องจำกัดการนั่งกินในร้าน ไม่เกิน 25% เวลาเปิดไม่เกิน 21.00 และการห้ามขายแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการหารายได้
นายกรณ์ กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดมากเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ดังนั้น จึงมีความพยายามปลดล็อกวัคซีนเพื่อให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งแม้จะเริ่มฉีดกันบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งต้องทนสถานการณ์แบบนี้ไปอีกประมาณ 2-3 เดือน เมื่อถึงจุดที่มีประชาชนฉีดวัคซีนมากพอ จนสถานการณ์ดีขึ้น มาตรการต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ดังนั้น ผู้ประกอบการแต่ละราย ก็จะต้องประเมินสถานการณ์ว่า เราจะเปิดช่วงนี้คุ้มหรือไม่ หรือควรรอไปอีก 2-3 เดือน อีกด้านคือมาตรการในการลดค่าใช้จ่าย ที่เชื่อว่ารัฐสามารถเข้ามามีบทบาทได้อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องภาษีที่รัฐควรยื่นมีเข้ามาช่วยในจังหวะนี้ การช่วยผู้ที่เคยเสียภาษีให้รัฐ ซึ่งรัฐมีตัวเลขที่ชัดเจนว่า ผู้ประกอบการเคยมีรายได้และเสียภาษีเท่าไร และลดลงมาเท่าไร คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะสามารถคำนวณส่วนชดเชยได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ
“ผมอยากเห็นรัฐบาลมีการจัดสรรงบ โดยเฉพาะงบเงินกู้ก้อนใหม่ 5 แสนล้าน อยากเห็นการจัดสรรส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เคยเสียภาษี ซึ่งการช่วยเหลือนี้ควรเป็นการช่วยเหลือนอกเหนือเงินกู้ เพราะการกู้ในภาวะนี้กับบางรายอาจเป็นการสร้างและสะสมปัญหาใหม่ซึ่งไม่ใช่การรอดอย่างยั่งยืน รัฐควรพิจารณาในการลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งคือการจ่ายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว รัฐสามารถช่วยลดภาระส่วนนี้ได้หรือไม่ รวมถึงข้อเสนอการเข้าถึงเงินประกันสังคม หรือการลดภาระการจ่ายเบี้ยประกันสังคม ทั้งหมดนี้ต้องคิดให้ครบถ้วนทั้งเงินก้อนมาชดเชย รวมไปถึงการสนับสนุนลดค่าใช้จ่ายและในส่วนของเงินกู้ที่กำลังจะเกิดขึ้น” หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว
ด้าน นายวรวุฒิ รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า วิกฤตโควิดรอบนี้ ผู้ประกอบการทุกคนกำลังดิ้นรน หนีตาย คนที่ไม่เคยเป็นหนี้ก็ต้องเป็น มาถึงขั้นนี้ที่ไหนมีหนทางผู้ประกอบการไปหมด ซึ่งครั้งนี้นับเป็นปรากฎการณ์ที่ดี ที่ทั้งธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐ เอกชนมาช่วยกัน ตอนนี้คนที่รอดคือคนที่ปรับตัวมากที่สุด หลายธุรกิจต้องจากไป มาตรการของรัฐต้องเข้ามาช่วยกิจการพวกนี้เพราะมันกระทบในวงกว้าง ดูได้จากมาตรการที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ออกมาอุ้มธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นธุรกิจบริการสังคม ถ้าร้านอาหารอยู่ไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบภาคสังคมหลายส่วน ดังนั้นธุรกิจร้านอาหารต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และเราก็อยากเห็นรัฐบาลดูแลเป็นพิเศษเช่นกัน แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามก็ยังมีหวังในช่วงโค้งสุดท้ายของการแพร่ระบาด เนื่องจากมีการทยอยฉีดวัคซีนกันแล้ว เราอดทนอีกนิด
“ในมุมธุรกิจอยากแนะนำว่าคนที่จะรอดคือคนที่ปรับเปลี่ยนมากที่สุด รวมถึงสามารถวิเคราะห์ว่าทางไหนใช่ ทางไหนไม่ใช่ อาจต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำทุกทางให้รอด ถ้าปรับน้อยโอกาสรอดในภาวะวิกฤตก็จะยาก ภาวะวิกฤตขนาดนี้ บางรายปรับตัวไม่ทัน นั่นเป็นเหตุที่มีการเรียกร้องความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทั้งลดค่าใช้จ่าย ลดภาษี และการเข้าถึงแหล่งทุน กลุ่มธุรกิจพวกนี้คือคนที่ดำเนินการตามมาตรการภาครัฐทั้งเว้นระยะห่าง จำกัดที่นั่ง 25% หรือจำกัดเวลาเปิด เขาได้รับผลกระทบโดนตรงจากการเป็นคนดีของรัฐบาล รัฐบาลควรหาทางชดเชยในการลดค่าใช้จ่ายให้พวกเขาด้วย” นายวรวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ก็มีการนำเสนอว่า ความสำคัญอยู่ที่การวางแผนเรื่องกระแสเงินสด เพื่อคาดการณ์อนาคตว่าการกู้ครั้งนี้เราสามารถชำระคืนได้หรือไม่ ต้องดูการวางแผนธุรกิจและดูกันยาวๆ เพราะการกู้ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่กู้มาเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ต้องอยู่ได้ระยะยาว และต้องไปต่อได้ ไม่เช่นนั้นก็เหมือนเผาเงินตัวเองไป และหากมองในฝั่งของรัฐบาล ครั้งนี้เป็นเรื่องของโรคระบาด ไม่ใช่ความผิดของใคร รัฐบาลก็หนี้สูง กู้มาหากช่วยไม่ถูกจุด เอกชนก็หนี้สูงเพื่อให้ตัวเองรอด จริงๆ ควรเลือกหนี้อันเดียว คือรัฐบาลต้องมีหนี้ต่อ GDP สูง แล้วเอามาดูแลเอกชนที่จะอยู่รอดผ่านวิกฤตได้ อย่างที่คุณกรณ์ กล่าวไว้ว่ารัฐมีตัวเลขภาษีในระบบ รัฐช่วยเหลือตามสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนิติบุคคลที่เคยจ่ายมาอย่างถูกต้องก็ควรดูแลเขา รวมไปถึงส่วนของประกันสังคมที่รัฐควรดูแล ส่วนร้านค้าที่ไม่อยู่ในระบบเอาตรงๆ ต่อไปก็ต้องเข้ามาในระบบมากขึ้น อาจจะช่วยได้ไม่เท่าคนที่อยู่ในระบบ ในวันนี้แต่เขาคือฟันเฟืองหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ เรื่องที่ช่วยง่ายสุดตอนนี้คือเรื่องการดูแลเรื่องของแรงงาน เงินเดือนเพื่อให้มีการจ้างงาน เพราะช่วยให้เศรษฐกิจเดิน มีเงินเดือนเกิดการบริโภค เศรษฐกิจก็เดินต่อ รัฐบาลจะมาอุ้มคนตกงานมันไม่ใช่
“เราเห็นด้วยกับทางพรรคกล้ามาตลอดที่ตั้งใจช่วยคนตัวเล็ก เพราะเอสเอ็มอี เกิดยากตายง่าย ถ้าตายแล้วเกิดใหม่ไม่ได้ เขาสะสมทุนมาทั้งชีวิตมันยากมากมีพลังก็ไม่มีทุน อย่าให้เขาตายไป จึงอยากเสนอว่าภาครัฐอย่าสร้างสองหนี้พร้อมกัน อย่าบังคับให้ภาคประชาชนเป็นหนี้เป็นสิน ควรให้รัฐบาลเป็นหนี้คนเดียวไปเลยดูแลทั้งระบบ เพราะรัฐบาลสามารถสร้าง economic modeling และคาดการณ์ว่าจะกลับมาเก็บภาษีได้เมื่อไหร่มีแผน 5 ปี 7 ปี วางแผนไปว่าถ้าเศรษฐกิจรอด พยายามให้ทุกคน เข้าระบบ ก็ได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ภาษีนิติบุคคลเอามา จ่ายชำระหนี้ได้”
ทั้งนี้ นายกรณ์ กล่าวแสดงความเห็นด้วยต่อความคิดเห็นดังกล่าว ว่ารัฐควรแบกรับภาระหนี้ เครดิตรัฐบาลดีกว่าของพวกเราทุกคน ความสามารถในการกู้ยืมของรัฐบาลได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเราทุกคน รัฐบาลยังมีศักยภาพในการช่วยเหลือเราได้อีกเยอะ