ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เผย กทม.เฝ้าระวัง 70 แห่ง พบ 5 คลัสเตอร์ ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่นาน 28 วัน ขณะที่ประเมินตลาดผ่านเกณฑ์ 289 แห่ง ไม่ผ่าน 90 แห่ง
วันนี้ (10 มิ.ย.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) แถลง ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในประเทศ 10 อันดับ คือ กรุงเทพมหานคร 788 ราย ปทุมธานี 308 ราย ยังคงเป็นคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยรายใหม่วันเดียวกันนี้เพิ่มอีก 262 ราย ชลบุรี 81 ราย คลัสเตอร์ใหม่ที่ตลาดบ้านทุ่ง ศรีราชา พบผู้ติดเชื้อรายงานวันเดียวกัน 28 ราย และบริษัทให้บริการขนส่งและเช่ารถยนต์มีรายงานพบผู้ติดเชื้อยืนยัน 8 รายพระนครศรีอยุธยา 43 ราย พบผู้ติดเชื้อที่บริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์ พบผู้ป่วยรายใหม่ 14 ราย ราชบุรี 43 ราย โรงงานบะหมี่ บ้านโป่งเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.พบผู้ป่วยราย 36 ราย และยะลา 42 รายพบผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสในชุมชนรายใหม่ สมุทรปราการ 209 ราย นนทบุรี 132 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 94 ราย สมุทรสาคร 89 ราย นอกจากนี้ ยังพบ จ.สุราษฎร์ธานี คลัสเตอร์ใหม่ในอำเภอเมือง อยู่ในตลาดสดหน้าวัดตาขุน พบผู้ป่วยยืนยัน 13 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับคลัสเตอร์กรุงเทพฯที่ต้องเฝ้าระวัง 70 แห่ง ถ้าจำแนกออกในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา แบ่งกลุ่มคลัสเตอร์ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 พบผู้ป่วยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา 60 คลัสเตอร์ กลุ่ม 2 ไม่พบผู้ป่วยภาย 14 วันแต่ใน 28 วันยังพบอยู่ คือ ดอนเมือง บางเขน บางซื่อหลักสี่ ประเวศ หนองจอก บางคอแหลม สาทรและบางแค ทั้งนี้ ส่วนคลัสเตอร์ที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อเป็นระยะเวลา 28 วัน มี 5 คลัสเตอร์ คือ ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ ตลาดบุญเรือง เขตประเวศ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน แคมป์คนงานก่อสร้าง เขตวัฒนา และ แคมป์ก่อสร้าง บริษัทแสงฟ้า เขตบางพลัด ซึ่งถือได้ว่ามีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่พบรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า ส่วนการเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่ในชุมชนพบว่า 11 พื้นที่เสี่ยงในชุมชน ได้แก่ ตลาดสถานีขนส่ง สถานบริการผับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานที่ต่ออายุหรือบัตรแรงงานที่มีชุมชนแรงงานต่างด้าวแออัด หน่วยราชการด่านหน้า โรงงานห้างสรรพสินค้า รวมร้านอาหาร สถานที่ดูแลผู้สูงอายุโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือสถานดูแลเด็กเล็กศาสนสถานหรือสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาและบริษัท สำนักงาน หรือธนาคาร โดยในการเฝ้าระวังพื้นที่ชุมชนมีการกำหนดเกณฑ์ว่าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งทุกเขตในกรุงเทพฯจะมีมาตรการเฝ้าระวังเชิงรุกมีการสุ่มตรวจอย่างน้อย 5 แห่งจาก 11 ประเภทข้างต้น และในแต่ละแห่งจะมีการสุ่มตรวจอย่างน้อย 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ต่อจังหวัด
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ที่ประชุมกรุงเทพฯ รายงานแผนการตรวจตลาด 486 แห่ง เป็นรายงานการตรวจตั้งแต่ 24 พ.ค.จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. โดยมีการลงพื้นที่ตรวจไปทั้งสิ้น 379 แห่ง บางตลาดมีการตรวจซ้ำสองรอบพบว่า 289 แห่ง คิดเป็น 76 เปอร์เซ็นต์ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน แต่ยังมีอีก 90 แห่ง ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งพบว่าข้อบกพร่องที่พบมากที่สุด อันดับหนึ่งไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล จึงอยากให้ตลาดให้ความสำคัญ รวมถึงประชาชนที่ไปจับจ่ายใช้สอยสังเกตเกณฑ์ดังกล่าวด้วย อันดับสอง การควบคุมทางเข้าและออก บางตลาดไม่ผ่านเนื่องจากพบว่ามีทางเข้าและออกหลายทาง ไม่มีการตรวจวัดอุณหภูมิ และ 9 เปอร์เซ็นต์ความสะอาดไม่ผ่าน จำนวนลูกค้าบางแห่งมีความแออัดหนาแน่น ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง รวมถึงไม่สวมแมสพบมากถึง 7 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงอีก 6 เปอร์เซ็นต์ไม่มีจุดบริการล้างมือที่เพียงพอ และการระบายอากาศ และลงทะเบียนผู้ค้าและลูกจ้าง