xs
xsm
sm
md
lg

'อริย์ธัช' จี้ รัฐทำงานเชิงรุกทั้งสาธารณสุขและเศรษฐกิจ อย่าปล่อยเกิด 'คลัสเตอร์ใหม่' ไปเรื่อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (5 มิ.ย.)นายอริย์ธัช ชาติอาริยะพงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.เขตสวนหลวง พรรคกล้า กล่าวว่า สถานการณ์ที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจเชิงรุกและการเร่งฉีดวัคซีนที่ตนเคยเรียกร้องมาตลอดก่อนหน้านี้ คือเกิดคลัสเตอร์ที่ไหน วัคซีนต้องถึงที่นั่น เพราะเดิมทีในเขตสวนหลวงเริ่มต้นจากการพบคลัสเตอร์ในเขตแคมป์แรงงานเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อจำกัดพื้นที่แล้วการกระจายเชื้อจะไม่เกิดขึ้น จากสถานการณ์ที่พบคลัสเตอร์มากถึง 57 คลัสเตอร์ในกรุงเทพ เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตประจำวัน ทำให้พื้นที่ที่เป็นคลัสเตอร์มีโอกาสที่จะพบผู้ติดเชื้อในชุมชนรอบๆได้สูงด้วย

"ศบค.และกทม.ต้องยอมรับได้แล้วว่าสถานการณ์โควิดในกรุงเทพมหานครถือว่ารุนแรงและกระจายได้ง่าย สิ่งที่จะชะลอสถานการณ์ได้ไม่ใช่แค่การสั่งปิดสถานที่ที่พบเชื้อเพื่อให้ดูเหมือนมีแอคชั่นจริงจังเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาถ้วนหน้าออกมาให้คน กทม. เพื่อความมั่นใจในการที่พวกเขาจะหยุดทำงานหรือพบผู้คน ตัดวงจรของเชื้อได้ ขณะนี้สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบการ ห้างร้านหรือตลาด จะถูกสั่งปิดเมื่อพบเชื้อแต่ไม่กี่วันก็ต้องเปิด เพราะเขาต้องทำมาหากิน นี่คือแรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจที่ถูกมองข้ามมาตลอด แต่สถานการณ์แบบนี้ขอเตือนแรงๆว่า ถ้าไม่มีล็อกดาวน์ที่มาพร้อมการเยียวยา การรุกตรวจและการรุกฉีดวัคซีนทุกคลัสเตอร์ที่พบจะไม่มีทางหยุดการพบคลัสเตอร์ใหม่ๆและลดสถานการณ์ทางสาธารณสุขลงได้เลย สิ่งที่ทำให้คนกลัวการล็อกดาวน์นั่นก็เพราะไม่ได้มาพร้อมการเยียวยา ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน ในระดับพื้นที่ ต้องทำทันทีคือการค้นหาคัดกรองผู้ติดเชื้อกับผู้ไม่ติดเชื้อออกจากกันให้ได้ อย่างในเขตสวนหลวง ทันทีที่ประกาศเป็นคลัสเตอร์ใหม่ หน่วยตรวจเชิงรุกควรจะลงถึงชุมชน พร้อมกับหน่วยสนับสนุนด้านอาหารให้กลุ่มเสี่ยงสูงที่อาจต้องกักตัวทันที 14 วัน ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็ต้องไปทำมาหากินซึ่งอาจนำเชื้อไปด้วย เราต้องเข้าใจพวกเขา เข้าใจความเป็นจริงของคนหาเช้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ขาย เขาหยุดวันเดียวก็ลำบากแล้ว ยิ่งในเศรษฐกิจเช่นนี้ เขตควรต้องทำงานเชิงรุกทั้งด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขจะทำงานตั้งรับไม่ได้อีกแล้ว"
กำลังโหลดความคิดเห็น