เรื่องแดงเพราะ “ลูกน้อง” ไม่เล่นด้วย “บัตรสนเท่ห์” ปลิวว่อน “ตึกแปดแฉก” แฉ “ใครบางคน” ยอม “เปลืองตัว” ลงมา “กำกับ-สั่งการ” เองทั้งหมด เหตุโยงผลประโยชน์มหาศาล ปูดแทงเรื่องกันแค่ 2 วันแก้สาระสำคัญ 3 โครงการ งบฯ 3 พันล้าน บังเอิญ “เจ้ากรมส่งกำลังฯ ทอ.” ก็โดนเด้งวันเดียวก็เซ็นอนุมัติกัน ทั้งที่นั่งในตำแหน่งยังไม่ 6 เดือนดี คาดดื้อจนอยู่ไม่ได้ ต้องเขี่ยพ้นทางก่อน “ปิดจ๊อบ” จับตา “สภาผู้แทนฯ” รับลูกเช็คบิล
อาจเป็นเพราะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดพันศึกใหญ่ “โควิด-19” ทำให้หลงลืมเก้าอี้ “รมว.กลาโหม” ที่ถ่างขานั่งควบอยู่ จนมิได้ล่วงรู้ถึง “ควันกรุ่นๆ” ของความขัดแย้งที่ “ทุ่งดอนเมือง” กองทัพอากาศ
ต้องไม่ลืมว่าหาก “ปัญหาเกิด”คงไม่ใช่แค่ระดับ “ผู้ฝูงทัพฟ้า” เท่านั้น ยังหมายรวมถึงความรับผิดชอบของ “เจ้ากระทรวง” ด้วย
ว่ากันว่า เรื่องวุ่นๆที่ทุ่งดอนเมือง “แดงขึ้น” เพราะ “ลูกน้องหลายคน”ไม่เล่นด้วย เพราะมองว่าการเปลี่ยนแปลง “วัตถุประสงค์-สาระสำคัญ”โครงการทั้งหลาย เข้าข่าย และจะถูกร้องเรียนว่า “ผิดกฎหมาย”
กระทั่งมี “บัตรสนเท่ห์” ปลิวว่อน “ตึกแปดแฉก” กองบัญชาการทหารอากาศดอนเมือง ที่โยงใยถึง “ผลประโยชน์มหาศาล” ที่ว่ากันไปอีกว่า “ใครบางคน” ยอม “เปลืองตัว” ลงมา “กำกับ-สั่งการ” เองทั้งหมด
เมื่อลูกน้องไม่เล่นด้วย เรื่องที่เคยคิดว่า “หมูๆ” กลายเป็น “หมูเขี้ยวตัน” จนมีหลักฐานปรากฎเป็น “ลายลักษณ์อักษร” ชัดเจนว่า ใครสั่งให้ใครทำอะไร
“แหล่งข่าวระดับสูง” ในกองทัพอากาศ เล่าว่า ปฏิบัติการ “รื้อ” โครงการยักษ์ของกองทัพอากาศ ตั้งท่ากันมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ก่อนจะมีการตั้งคณะกรรมการฯช่วงเดือน ม.ค.64 และมาเดินเครื่องกันเต็มที่ช่วงต้นเดือน มี.ค.64 ช่วงแต่งตั้งโยกย้าย “กลางปี” ของเหล่าทัพพอดี
กว่าจะมาลุล่วง “เข้าฮอส” ได้สำเร็จก็วันที่ 12 มี.ค. ที่ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ลงนามอนุมัติขอบเขตความต้องการของโครงการ (SOPR) และ ขอบเขตของงาน (TOR) ใหม่ของ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2) วงเงินงบประมาณ 945 ล้านบาท, โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) วงเงินงบประมาณ 940 ล้านบาท และ โครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ (วิทยุ) วงเงินงบประมาณ 910 ล้านบาท
ที่สำคัญเอาเข้าจริงปฏิบัติการ “รื้อ” ใช้เวลา “แทงเรื่อง” กันแค่ 2 วัน ระหว่างวันที่ 11-12 มี.ค.64 เท่านั้น
กล่าวคือ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2) คณะกรรมการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อทบทวนและปรับปรุง SOPR และ TOR ที่ พล.อ.อ.แอร์บูล แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 ม.ค.64 ได้สรุปทบทวนและปรับปรุง SOPR และ TOR จำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 วันที่ 11 มี.ค.64
จากนั้น กรมส่งกําลังบํารุงทหารอากาศ (ยก.ทอ.) ผู้รับผิดชอบ ได้ทำหนังสือที่ กห 0606.3/116 ลงวันที่ 11 มี.ค.64 เสนอ SOPR และ TOR ใหม่ของโครงการ N-SOC C2 ถึง ผบ.ทอ.
ตามขั้นตอนเรื่องต้องผ่าน รองเสนาธิการทหารอากาศ (รอง เสธ.ทอ.) และผ่าน เสนาธิการทหารอากาศ (เสธ.ทอ.) เพื่อเสนอ ผบ.ทอ. โดยทั้ง รอง เสธ.ทอ. และ เสธ.ทอ. ลงนามเห็นชอบในวันที่ 12 มี.ค.64
สุดท้าย ผบ.ทอ. ก็ลงนามอนุมัติ วันที่ 12 มี.ค.64 เช่นเดียวกัน
ขณะที่อีก 2 โครงการ โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) วงเงินงบประมาณ 940 ล้านบาท ถูกปรับปรุง SOPR และ TOR จำนวน 4 ครั้ง และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ (วิทยุ) วงเงินงบประมาณ 910 ล้านบาท ที่ถูกปรับปรุง SOPR และ TOR จำนวน 3 ครั้ง ต้องบอกว่า “หนักกว่า”
เพราะตั้งแต่ “ต้นทาง” กรมส่งกําลังบํารุงทหารอากาศ เสนอถึง “ปลายทาง” ผบ.ทอ.อนุมัติ ใช้เวลาวันเดียว คือวันที่ 12 มี.ค.64
“บังเอิญอย่างไม่น่าเชื่อ” ว่า วันที่ 11 มี.ค.64 เป็น “วันคลอด” ประกาศคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารกลางปี (เม.ย.) 2564 พอดิบพอดี แต่กลับเป็น “วันดีเดย์” ปฏิบัติการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ 3 โครงการใหญ่ งบประมาณรวมเกือบ 3 พันล้านบาทอย่างเร่งรีบในวันเดียวกัน และอีกวันให้หลัง
บังเอิญอีกเช่นกันว่าในโผโยกย้ายนายทหารกลางปี 2564 ปรากฏชื่อ พล.อ.ท.นพดล เพราเพริศภิรมย์ เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ ไปเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองทัพอากาศ
และมี พล.อ.ต.อนันตชัย แก้วศรีงาม รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหาร ขึ้นเป็น เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ แทน
ทั้งๆที่ พล.อ.ท.นพดล เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯเป็น “นายพลโท” และขึ้นเป็น เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ เมื่อโผโยกย้ายปลายปี เดือน ก.ย.63 หรืออยู่ในตำแหน่งไม่ถึง 6 เดือนดี
เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ ถือเป็น “หัวหอก” สำคัญ ที่ต้อง “ชงเรื่อง” แก้ไขรายละเอียดจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 3 โครงการใหญ่ข้างต้น
จึงอนุมานได้ว่า เป็นการโยกย้ายที่ “ไม่ปกติ” อย่างแน่นอน
รายงานข่าวจากกองทัพอากาศแจ้งว่า พล.อ.ท.นพดล เป็นผู้หนึ่งที่ “ไม่เล่นด้วย” กับปฏิบัติการ “รื้อ” ของ ผบ.ทอ.มาตลอดทาง จนปฏิบัติการล่าช้ากว่าที่ “ใครบางคน” ต้องการ
ทว่า ตามธรรมเนียมกองทัพ ในฐานะ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” ก็ยากที่จะ “ขัดคำสั่ง” ของ “ผู้บังคับบัญชา”
น่าสังเกตไม่น้อยว่า หนังสือทุกฉบับเกี่ยวกับ 3 โครงการใหญ่ ที่ผ่าน กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ ในยุค พล.อ.ท.นพดล ล้วนแล้วแต่มี “คีย์เวิร์ค” ว่า “ตามสั่งการ ผบ.ทอ.”
ผลจากการยื้อยุดฉุดกระชากปฏิบัติการ “รื้อ” ทำให้ พล.อ.ท.นพดล “อยู่ไม่ได้” เพราะแม้จะสามารถ “เข้าฮอส” แก้ไขรายละเอียดจัดซื้อจัดจ้างได้แล้ว แต่ก็ยังไม่ “ปิดจ๊อบ”
ยังต้องเป็น กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ ที่เป็น “เจ้าภาพ” ในการตั้งเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง จัดทำราคากลาง และเป็นหน่วยงานคู่สัญญากับเอกชน
หาก “เจ้ากรม” ยังเป็น “เด็กดื้อ” อยู่ ก็ไม่ต่างจาก “หลุมอากาศ” ในการผลักดัน 3 โครงการนี้ อันเป็นเหตุให้ พล.อ.ท.นพดล ต้องไปเข้ากรุ “ผอ.สนง.ประสานฯ กอ.รมน.” ที่ว่า
และผลักดัน “เด็กดี” ที่ยอมอยู่ในโอวาทขึ้นมาแทนที่ แต่น่ากลัวว่า “เด็กดี” อาจได้กลิ่นไม่ชอบมาพากลก็เป็นได้ เพราะป่านนี้ผ่านมา 2 เดือนเศษแล้ว ทุกโครงการยังดูเหมือน “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” ไร้ความคืบหน้า
ยิ่งงวดเข้าสู่ “โค้งสุดท้าย” ของงงบประมาณปี 2564 และกำลังจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เป็นช่วงเดียวกับที่ กองทัพอากาศ ต้องทำเรื่องขออนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำชี้แจงงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ เดิม
ข่าวว่า ขณะนี้ “ข้อมูลปึกใหญ่” ถึงความไม่ชอบมาพากลในการเปลี่ยนแปลง “วัตถุประสงค์-สาระสำคัญ” ของ 3 โครงการถึงมือคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ, คณะกรรมาธิการทหาร และคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ของสภาผู้แทนราษฎร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อีกทั้งเชื่อว่าในชั้นกรรมาธิการงบประมาณฯ ในส่วนของ “ทัพฟ้า” น่าจะบันเทิงไม่น้อย เพราะการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่เกิดขึ้น อาจเข้าข่าย “ผิดกฎหมาย” และกลายเป็นการ “โกหกคำโต” กับรัฐสภาที่ผ่านงบประมาณให้ด้วย
ที่ว่า 3 โปรเจ็คต์หวานเจี๊ยบ อาจต้องขมขื่นในตอนท้ายได้
ความบันเทิงที่ทุ่งดอนเมืองยังไม่จบ ตามกันต่อตอนหน้า.