ภาคต่อปฏิบัติการ “น้องรักหักเหลี่ยมโหด” เมื่อ “แอร์บูล” ไล่รื้อมรดกรุ่นสู่รุ่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศพึ่งพาตัวเองทำท่าต้องหยุดชะงัก หวนกลับเป็น “ทาสฝรั่ง” อีกครั้ง “ลูกทัพฟ้า” สุดช้ำระบบ “Link-TH” สื่อสารเครื่องบินรบไทย กำลังถูกเก็บเข้าลิ้นชัก แถมโล๊ะหลักประกันจัดซื้อจัดจ้างงานในประเทศทิ้งอีก
ด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทุกด้าน ส่งผลให้โลกยุคปัจจุบันหมุนไวมาก การเปลี่ยนแปลงรอบตัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการพัฒนา อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ที่ถือว่ามีความรุดหน้าไปมาก
โดยประเทศไทยมี สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย การพัฒนา การผลิต และการนำมาใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากการแข่งขันในระดับประเทศแล้ว ยังต้องการลดการพึ่งพาหรือนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ
เปลี่ยนสถานะประเทศไทยจาก “ผู้ซื้อ” มาเป็น “ผู้วิจัย ผู้พัฒนา ผู้ผลิต” เพื่อการใช้งานภายในประเทศ และการส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศในด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณทางทหารซึ่งเมื่อก่อนใช้แล้วหมดไปกลายเป็นการใช้จ่ายที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคืนมา และเป็นการสร้างงานตามนโยบาย S curve11 หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายลำดับที่ 11 ของรัฐบาลด้วย
สำคัญที่สุดคือการนำ “กองทัพไทย” ออกจาก “ทาสทางเทคโนโลยี” ของต่างชาติ และ ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในอนาคตอันใกล้นี้
แหล่งข่าวระดับสูง “ลูกทัพฟ้า” เล่าว่า กองทัพอากาศ ถือว่า “ก้าวหน้า” ตามแนวทางนี้อย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 1 ทศวรรษมานี้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ผู้นำสูงสุดของเหล่าทัพ ต่างร่วมกันวางรากฐาน ด้วยหลักคิด “พึ่งพาตนเอง” วางกรอบสำคัญไว้ว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ต่างๆ ประเทศไทยจะต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อต่อยอด แนวทางจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D)
มีการบรรจุ “หลักปฏิบัติ” เป็น “มรดกรุ่นสู่รุ่น” ไว้ใน “เอกสารทางการ” ของกองทัพอากาศ ตั้งแต่ สมุดปกขาวกองทัพอากาศ (RTAF White Paper) พ.ศ.2563, หลักนิยมกองทัพอากาศ พ.ศ.2562, ยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) และแนวความคิดในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศ ฉบับ ผบ.ทอ. (พล.อ.อ.มานัต วงศ์วาทย์) วันที่ 23 ก.ย.63
ในสัญญาจัดซื้อยุทโธปกรณ์ระยะหลัง ต้องกำหนดให้ “ผู้ขาย” จากต่างประเทศต้องจ้าง “บริษัทของไทย” ที่ได้มาตรฐานเข้าร่วมโครงการเพื่อถ่ายทอดความรู้ เป็น “กุศโลบาย” ที่ทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ “ทางอากาศ” มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และยังทำให้ปัญหาต่างๆในอดีตคลี่คลายไป การซ่อมบำรุงทำได้เร็วขึ้น เพราะดำเนินการได้เองภายในประเทศ และงบประมาณที่ใช้จ่ายก็ไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ
มีเรื่องเล่าถึง “ปม” ของ “ลูกทัพฟ้า” ในอดีตว่า เวลาปฏิบัติภารกิจตรวจเช็คซ่อมบำรุงเครื่องบินมักพบว่า มี “น๊อต” หลุดหายเป็นประจำ เป็น “น๊อต” ที่ลักษณะทั่วๆไปหาได้ตามร้านอะไหล่ ซื้อหาได้ในราคาไม่เกิน 20 บาท กลับต้องรอเบิก และอนุมัติจาก “ฝรั่ง” สนนราคา 2 พันบาท เพราะต้องบวก “ค่ามันสมอง” เข้าไปด้วย
ครั้นจะ “ลักไก่” ซื้อมาใส่เองก็ไม่ได้ เพราะติดสัญญาที่ทำกันไว้
อันเป็นเหตุที่ทำให้ราคาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศแพงหูฉี่ เพราะมี “ค่ามันสมอง” หรือ “ค่าคิดค้นพัฒนา” บวกเข้าไปด้วย และทำให้กองทัพกลายเป็นเป้าให้ถูวิพากษ์วิจารณ์ยามมีโครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทุกครั้ง
แหล่งข่าว “ลูกทัพฟ้า” เล่าต่อไปว่า สาเหตุสำคัญที่ ทอ.เลือกใช้วิธีการจัดหายุทโธปกรณ์ในรูปแบบ P&D หรือการจัดหาพร้อมกับพัฒนา นอกจากจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศให้พึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังได้ระบุกรอบการพัฒนาด้านต่างๆ ไว้ใน “สมุดปกขาว” และเปิดเผยสู่สาธารณะ โดยแจกจ่ายให้กับ “สถานทูตต่างๆ” เพื่อให้ “มิตรประเทศ” ได้ทราบถึงแนวทางการพัฒนากองทัพอากาศอย่างยั่งยืน
เหมือนเป็นการประกาศให้นานาชาติรู้ถึง “กติกา” ที่ประเทศไทยกำหนด หากคิดจะมาค้าขายกับกองทัพอากาศ โดยเฉพาะประเด็นถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่ชิ้นส่วนของอากาศยาน (Aircraft Parts) เช่น “น๊อต” ที่เคยเป็นปัญหา รวมไปถึงการร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการบิน และระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีกับเครื่องบิน เป็นต้น
โดยปัจจุบันกองทัพอากาศอยู่ระหว่างการพัฒนา “ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีกับเครื่องบิน” ที่สั่งการโดย “ภาษานักบินรบไทย” หรือที่เรียกว่า “Link-TH” ตามมาตรฐานสากล
คือ ไม่ว่าจะจัดซื้อเครื่องบิน-อากาศยาน สัญชาติใดในโลก ต้องสามารถแก้ไขและติดตั้งระบบที่ “ทอ.ไทย” ใช้เท่านั้น โดยมี Alpha Jet ฝูงบิน 231 กองบิน 23 เป็นฝูงบินนำร่องในการพัฒนา
สำหรับระบบ Link-TH มีการกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี ด้วยว่า “กองทัพอากาศต้องมีสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ในการพัฒนา ขยายผล และต่อยอด” วางเป้าหมายพัฒนาเป็นระบบปฎิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็น “ศูนย์กลาง” (NCO) ทั้งภายในประเทศ และภูมิภาคอาเซียนในอนาคตด้วย
ทั้งหมดถูกบรรจุไว้ใน แนวความคิดในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศ ฉบับ ผบ.ทอ. (พล.อ.อ.มานัต วงศ์วาทย์) ลงวันที่ 23 ก.ย.63 หรือก่อน พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธวรรณ ผบ.ทอ.คนปัจจุบัน จะเข้ารับตำแหน่งเพียงเดือนเศษ
ทำให้ พล.อ.อ.แอร์บูล ถูกขนานนามว่า “น้องรักหักเหลี่ยมโหด” หลัง “สั่งการ” ให้ศึกษาปรับปรุงสาระสำคัญของ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2), โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ (วิทยุ) ที่ถูกตัดเรื่องจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D)
เปิดทางให้สามารถจัดหาจาก “ต่างประเทศ” ทั้งหมดก็ได้
โดยเฉพาะโครงการ N-SOC C2 ที่ถูกปรับกลับไปใช้ระบบบัญชาการ และการควบคุมทางอากาศ (ACCS) ที่มี “ข้อจำกัด” ต้องได้รับอนุญาตจาก “รัฐบาลต่างชาติ” ทุกครั้ง และการดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ต้องทำโดย “บริษัทต่างชาติ”
เช่นเดียวกับ โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) งบประมาณ 940 ล้านบาท ที่เป็นการจัดซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ พร้อมการติดตั้ง และการฝึกอบรม จำนวน 1 ระบบ ติดตั้ง ณ กองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ตลอดจนต้องเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ของกองทัพอากาศซึ่งพัฒนาจากโครงการปรับปรุงขีดความสามารถเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรือ Alpha Jet ที่เป็นระบบที่พัฒนาโดยบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย เพื่อให้เป็น “ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศ” หรือ “Link-TH”
แต่ในวัตถุประสงค์ใหม่ที่ พล.อ.อ.แอร์บูล อนุมัติ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.64 กลับตัดข้อความที่ว่า “ต้องเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบเชื่อมโยงทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศ” ออก เท่ากับว่า ไม่ระบุว่าต้องเชื่อมโยงกับระบบบัญชาการและควบคุมทางอากาศระบบใด
และยังพบว่ามี “สาระสำคัญ”ของ TOR โครงการ GBAD ที่ระบุว่า “การจัดหาพร้อมการพัฒนาที่ระบุให้บริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ...”ถูกตัดออกไปด้วย
เท่ากับว่าเป็นการตัด “หลักประกัน” สัดส่วนปริมาณ “งานในประเทศ” ที่กำหนดไว้อย่างน้อย 1 ใน 4 ของมูลค่าโครงการจะออกไป
ทำนองเดียวกับ โครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ (วิทยุ) งบประมาณ 910 ล้านบาท ที่เคยกำหนดไว้ว่า “ต้องใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศ และต้องเป็นไปตามแนวทางการจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D)” ก็ถูกตัดออกทั้งหมด
เท่ากับ “ล้างมรดก” ที่รุ่นพี่วางไว้ และเปิดประตูอ้าซ่าให้ “ต่างชาติ” เข้ามาผูกขาดค้าขายกับกองทัพอากาศอีกครั้ง
เรื่องแบบนี้ไม่น่าจะทำง่าย และคงไม่จบง่ายๆด้วยเช่นกัน.