xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องวุ่นๆที่ “ทุ่งดอนเมือง” (1/4) : “รุ่นพี่”เขียนไว้ด้วยมือ ฤา“บิ๊กแอร์”ลบด้วยเท้า?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธีรับ-ส่งหน้าที่ผู้บัญชาการทหารอากาศ ระหว่าง พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ กับ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.63
ปฐมบทความขัดแย้งที่ “ทุ่งดอนเมือง” ยุคจ่าฝูง “บิ๊กแอร์บูล” งานนี้เล่นเอาพี่เลิฟ “บิ๊กนัต” ควันออกหู ตัดขาด “น้องรักในไส้” ที่ผลักดันมากับมือ เหตุโดน “รื้อ” 3 บิ๊กโปรเจคต์ งบฯเกือบ 3 พันล้านบ.ต่อหน้าต่อตา ตัดตอนหลักจัดหา-พัฒนา ที่วางกันมารุ่นสู่รุ่น เปิดทาง จัดหาจาก “ต่างประเทศ” ทั้งหมด

ถือเป็นเหล่าทัพที่มีความเป็นเอกภาพ และคลื่นลมสงบ ไร้ความขัดแย้ง มาตลอดห้วงเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สำหรับ “อาณาจักรทุ่งดอนเมือง” กองทัพอากาศ ทว่า มาวันนี้อาจเข้าทำนองคำกล่าวที่ว่า “ก่อนที่พายุใหญ่จะมา คลื่นลมมักจะสงบเสมอ”

ด้วยห้วงเวลานี้เป็นที่รู้กันภายในว่า มีความขัดแย้งก่อตัวขึ้นภายในกองทัพอากาศ โดยเป็นประเด็นที่ยังไม่ล่วงรู้ถึงหู “คนนอก” ต่างกลับ “ลูกทัพฟ้า” ที่ขณะนี้อยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก”

ความขัดแย้งใน “ทุ่งดอนเมือง” เริ่มคุกรุ่นขึ้น ตั้งแต่ “บิ๊กนัต” พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) คนก่อน ทำเซอร์ไพร์สหักปากกาเซียนเสนอชื่อ “บิ๊กแอร์” พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่

ย้อนไปช่วงนั้น ก็มีปฏิบัติการต่อต้าน “บิ๊กแอร์บูล” อย่างหนัก เพราะมองว่า ไม่ได้อยู่ในไลน์ 5 ฉลามอากาศ ตามขนบปฏิบัติ อีกทั้งยังไม่มีความโดดเด่นเป็นประจักษ์ มีประสบการณ์เป็นเพียง “นักบินลำเลียง” เครื่องซี 130 เทียบไม่ได้กับ “นักบินเอฟ16” อย่าง “บิ๊กจ้อ” พล.อ.อ.ธรินทร์ ปุณศรี ผู้ช่วย ผบ.ทอ. คู่แคนดิเดตที่ว่ากันว่ามีความเหมาะสมทุกประการ

อย่างไรก็ดี เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พล.อ.อ.แอร์บูล เป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ อย่างเป็นทางการ ทุกอย่างถือว่า “จบ” และคนใน ทอ.ก็มีความเป็น “สุภาพบุรุษ” พอที่จะให้โอกาส “ผู้นำฝูงคนใหม่” ทำงานพิสูจน์ฝีมือ

พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) คนปัจจุบัน
ผ่านไปไม่นาน กลับปรากฎกระแสข่าวว่า “บิ๊กนัต” กับ “น้องรักในไส้” ที่ผลักดันจนเป็นเบอร์ 1 ทุ่งดอนเมือง ชัก “คุยคนละภาษา” จนฝ่ายแรกเปรยกับคนใกล้ชิดว่า พลาดที่ตัดสินใจเช่นนั้น

กระทั่งเมื่อช่วงปลายปี 2563 มีงานเลี้ยงเทศกาลปีใหม่ 2564 และถือเป็นงานเลี้ยงแสดงความยินดีกับ พล.อ.อ.แอร์บูล ได้เชิญอดีต ผบ.ทอ.ที่ยังมีชีวิตอยู่เข้าร่วม โดยมีอดีต ผบ.ทอ.ถึง 9 ราย นำโดย 2 องคมนตรี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข และ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง มาร่วมงาน แต่ปรากฎว่า พล.อ.อ.มานัต อดีต ผบ.ทอ.คนล่าสุดผู้เสนอชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล กลับไม่ไปร่วมงาน

ยิ่งเพิ่มน้ำหนักรายการ “น้องรักหักเหลี่ยมโหด” ที่ทุ่งดอนเมืองมากยิ่งขึ้น

จนเมื่อต้นปี 2564 คนดอนเมืองก็ถึงบางอ้อ เมื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล “สั่งการ” ให้ “รื้อ” เปลี่ยนแปลง “สาระสำคัญ” ในการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ ตาม “โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพ (กองทัพอากาศ) โครงการผูกพันเริ่มใหม่ ปี 64” อย่างน้อย 3 โครงการ มูลค่ารวมหลายพันล้านบาท

ประกอบด้วย โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2) วงเงินงบประมาณ 945 ล้านบาท, โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (Ground Based Air Defense : GBAD) วงเงินงบประมาณ 940 ล้านบาท และ โครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ (วิทยุ) วงเงินงบประมาณ 910 ล้านบาท

โดยมีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการศึกษาและรวบรวมข้อมูล เพื่อทบทวนและปรับปรุง ขอบเขตความต้องการของโครงการ (SOPR) และ ขอบเขตของงาน (TOR) เดิม เมื่อวันที่ 14 ม.ค.64

ก่อนจะมีการเสนอข้อมูลสรุปของทั้ง 3 โครงการ และ พล.อ.อ.แอร์บูล ลงนามอนุมัติ SOPR และ TOR ใหม่ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.64

 พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีต ผบ.ทอ.
โดย SOPR และ TOR ที่อนุมัติใหม่นี้ มีการเปลี่ยนแปลง “วัตถุประสงค์-สาระสำคัญ” ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 14 ส.ค.63 โดยปลัดกระทรวงกลาโหมและ ผบ.เหล่าทัพเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ

ที่สำคัญวัตถุประสงค์-สาระสำคัญ ที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นยังขัด “หลักปฏิบัติ” ที่ ผบ.ทอ.สืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่นมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีการวางแนวทางอนุมัติหลักการ/โครงการนำร่องตามแนวทาง การจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D) สู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

มีการบรรจุหลักปฏิบัติไว้ใน “เอกสารทางการ” ของกองทัพอากาศ ตั้งแต่ สมุดปกขาวกองทัพอากาศ (RTAF White Paper) พ.ศ.2563, หลักนิยมกองทัพอากาศ พ.ศ.2562, ยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2563) และ แนวความคิดในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของ กองทัพอากาศ ฉบับ ผบ.ทอ. (พล.อ.อ.มานัต วงศ์วาทย์) วันที่ 23 ก.ย.63

อีกทั้งในรายงานคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ 2564 ของสภาผู้แทนราษฎร ยังได้เสนอแนะถึงโครงการต่างๆของกองทัพอากาศไว้ด้วยว่า “ควรปรับปรุงเอกสารที่เสนอประกอบการพิจารณาในส่วนที่เป็นโครงการต่างๆให้เป็นแนวเดียวกับการเสนอเอกสารสมุดปกขาว 2563 ของกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี”

ทั้งนี้สาระสำคัญของ สมุดปกขาวกองทัพอากาศ 2563 คือการแสดงโครงการสำคัญของกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นความต้องการยุทโธปกรณ์หลัก ในห้วงระยะเวลา 10 ปี (2562-2573) ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี (2561 - 2580) ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการจัดหาและขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีจากรัฐบาล

ในยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี (2561 - 2580) ได้ระบุถึงความท้าทายในอนาคตไว้ตอนหนึ่งว่า “...บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่จะจำกัดการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งกำหนดอายุการใช้งาน นโยบาย ระเบียบ และข้อจำกัดให้ผู้ซื้อต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตลอดจนไม่สามารถดำเนินการพัฒนาหรือปรับปรุงเพิ่มเติมได้เอง กองทัพอากาศจึงต้องดำเนินการตามหลักการจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D) โดยกำหนดแนวทางให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือความร่วมมือกับกองทัพอากาศหรือบริษัทอุตสาหกรรมในประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการส่งกำลังและซ่อมบำรุงได้เองภายในประเทศ...”

การดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์ต่างๆในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กองทัพอากาศ ใช้หลักการนี้มาตลอด ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็น “เบอร์ 1 แห่งทุ่งดอนเมือง”ก็ตาม เพราะต้องการ “ปลดแอก” ไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติอีกต่อไป

แต่ SOPR และ TOR ที่ พล.อ.อ.แอร์บูล อนุมัติใหม่นั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะ “เปิดทาง” และ “หันกลับ” ไปใช้บริการ “บริษัทค้าอาวุธ” ที่ทำหน้าที่เป็น “นายหน้า” ตัวแทนในการจัดหายุทโธปกรณ์มาจากต่างประเทศ

ซึ่งหากเป็นจริงถือว่า “ไม่ถูกต้อง” ขัดกับหลักการของกองทัพอากาศ และเหตุผลได้ชี้แจงต่อรัฐสภา

และเป็นการนำกองทัพเข้าไปเป็น “ทาสทางเทคโนโลยี” ของต่างชาติ และ “ปิดประตู” การพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้านการบินของไทย ซึ่งขัดกับนโยบายของรัฐบาล และ “ผบ.ทอ.รุ่นพี่” ที่ผ่านมาร่วมทศวรรษ

ยกตัวอย่าง โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบ ป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2) ที่ในวัตถุประสงค์ถูกตัดข้อความสำคัญที่ว่า “...ต้องสามารถบูรณาการเข้ากับระบบบัญชาการและควบคุมทางอากาศภาคเหนือได้อย่างสมบูรณ์”ออก ปรับเป็น “...ต้องสามารถบูรณาการเข้ากับระบบบัญชาการ และการควบคุมทางอากาศ (ACCS) ได้อย่างสมบูรณ์”

ตรงตามกระแสข่าวที่ว่า พล.อ.อ.มานัต ทราบข่าวว่า หลายโครงการที่ทำไว้จะถูก “รื้อ” โดย พล.อ.อ.แอร์บูล อ้างว่า เพื่อให้ “รอบคอบ” มากขึ้น แต่รุ่นพี่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนอย่าง พล.อ.อ.มานัต ย่อม “รู้ทัน” ว่าหมายถึงอะไร

มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะ “ระบบ ACCS” ที่กองทัพอากาศใช้งานอยู่ในปัจจุบัน มี “ข้อจำกัด” ที่ต้องได้รับอนุญาตจาก “รัฐบาลต่างชาติ” ทุกครั้ง และการดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ต้องทำโดย “บริษัทต่างชาติ” ต่างจากวัตถุประสงค์เดิมที่ต้องการพัฒนาระบบบัญชาการและควบคุมทางอากาศภาคเหนือ (N-SOC C2) ที่พัฒนาโดยบริษัทอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย เพื่อให้กองทัพอากาศมีอิสระในการแก้ไขปรับปรุงระบบได้เอง และเพื่อให้เป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธีของกองทัพอากาศในอนาคต

เช่นเดียวกับ โครงการพัฒนาป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ (วิทยุ) ที่ถูกตัดเรื่องจัดหาพร้อมการพัฒนา (Purchase and Development : P&D) เป็นการจัดหาจาก “ต่างประเทศ” ทั้งหมด

เมื่อหลักการที่ “รุ่นพี่” เขียนไว้ด้วยมือ แต่ถูก “น้องรัก” มาลบด้วยเท้า กลายเป็นปฐมบทเรื่องวุ่นๆที่ “ทุ่งดอนเมือง” ซึ่งดูท่าไม่น่าจบง่ายๆ

โปรดติดตามตอนต่อไป.



กำลังโหลดความคิดเห็น