xs
xsm
sm
md
lg

กล้าชำแหละงบ 65 จัดสรรไม่สอดคล้องสถานการณ์ ติดกับดักระบบราชการล้าหลัง ตัดงบสำคัญอื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พรรคกล้า ชำแหละงบ 65 จัดสรรไม่สอดคล้องสถานการณ์ ติดกับดักระบบราชการล้าหลัง งบงานกองทัพเกือบ 2 แสน ล.รักษาดินแดนแค่ 700 ล. ลดงบแรงงานอื้อ แต่คนตกงานเพียบ กู้ใช้โควิดเบิกจ่ายจริงแค่ 15% ทวงค่าเสี่ยงภัยตั้งแต่ปีก่อน SMEs แย่แต่งบน้อย

วันนี้ (30 พ.ค.) นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม รองโฆษกพรรคกล้า ตั้งข้อสังเกตถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรวันพรุ่งนี้ (31 พ.ค.) ในบางประเด็นเพื่อให้รัฐบาลได้ชี้แจงว่า เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ตั้งงบประมาณรายจ่ายลดลง จาก 3.28 ล้านล้านบาท เหลือ 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 แต่การจัดงบประมาณกลับพบข้อสังเกตว่า หลายอย่างไม่สอดรับกับสถานการณ์ เช่น งบรายจ่ายจำแนกตามวัตถุประสงค์การป้องกันประเทศ 199,820.7 ล้านบาท พบว่าเป็นงบงานกองทัพสูงถึง 198,597.2 ล้านบาท ขณะที่ตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนมีความตึงเครียด ทั้งความไม่สงบภายในพม่า การหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว แต่งบประมาณการรักษาดินแดนมี 771.1 ล้านบาทเท่านั้น งบประมาณส่วนใหญ่เสียไปกับงบประจำและการดูแลบุคลากรมากเกินไปหรือไม่ สะท้อนถึงระบบราชการล้าหลัง

นายแสนยากรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า สถานการณ์โควิด-19 แรงงานจบใหม่ไม่มีงานทำ แรงงานเดิมตกงานอีกจำนวนมาก สภาพัฒน์รายงานตัวเลขรวม 7.6 แสนคน หลายองค์กรคาดการณ์ไว้มากถึงหลักล้านคน แต่กระทรวงแรงงานซึ่งรับผิดชอบด้านนี้โดยตรงถูกตัดงบถึงร้อยละ 28.7 ถือเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกกระทรวง รัฐบาลยังไม่เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน หรือ รมว.แรงงาน ยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้

ด้าน ทพ.กันตพงศ์ ดีชัยยะ คณะทำงานด้านสาธารณสุข ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบประมาณด้านสาธารณสุข ว่า งบกลางปี 64 มี 12 หมวด แต่ปีนี้มี 11 หมวด โดยตัดหมวด “ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019” โดยเข้าใจว่า งบประมาณที่หายไปในส่วนนี้ วางแผนไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่เพิ่งออกมาเมื่อไม่กี่วันที่แล้ว ซึ่งกำหนดวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท สำหรับแผนงานด้านสาธารณสุข แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการเบิกจ่ายเงินกู้ด้านสาธารณสุขปีที่แล้ว วงเงิน 45,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้เบิกจ่ายจริงเพียงแค่ 7,102 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.78 เท่านั้น รวมถึงแผนงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 355,000 ล้านบาท ก็เบิกจ่ายเพียง 69,117 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.47 เท่านั้น สะท้อนถึงปัญหาประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงิน หรือไม่มีแผนเบิกจ่ายเงินที่ชัดเจน หรือหลายโครงการยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะฟื้นเศรษฐกิจและสังคมได้หรือไม่

“ยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลตั้งค่าเบิกจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้เพิ่มเงินพิเศษรายเดือนให้ผู้ปฏิบัติงานโดยตรง เพิ่มเดือนละ 1,500 บาท และผู้ที่ทำงานสนับสนุนเพิ่มเดือนละ 1,000 บาท แต่ที่ได้รับฟังจากบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ตนเองรู้จัก หลายคนบอกว่ายังไม่ได้รับเงินในส่วนนี้ โดยค้างจ่ายมากว่า 1 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่ควรจัดงบประมาณให้เพียงพอ เนื่องจากเป็นแผนเดิม ไม่ใช่แผนใหม่ บุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานหนัก กลับไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม จึงหวังว่าหลังสะท้อนปัญหานี้แล้ว จะมีการโอนเงินค้างจ่ายนี้ให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขทุกคน”

ขณะที่ นายบุญสืบ จันทร์แจ่มศรี คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงงบประมาณตามยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่เตรียมงบไว้ 338,547.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.9 ของงบประมาณรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท ถือว่าเกือบจะน้อยที่สุด รองจากยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้อยละ 3.9 ซึ่งน่าจะไม่เพียงพอต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจและประชาชนหลังยุคโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก SMEs ซึ่งงบส่วนนี้ถูกจัดแบ่งให้กับแผนงานพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและวิสาหกิจขนาดเล็กเพียง 1,927 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 0.3 สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กให้ยืนแข่งขันกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ เชื่อว่าภายในปีนี้ต่อเนี่องถึงปีหน้า จะมีบริษัท ห้างร้าน และกิจการขนาดปิดตัวลงอีกมาก และจะยิ่งเพิ่มอัตราคนว่างงานให้สูงขึ้น

ส่วนงบประมาณตามยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ตามที่รัฐบาล นักวิชาการ และภาคเอกชนให้ข่าวมาตลอด ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ทางรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหานี้แล้ว แต่ถ้าดูการจัดสรรงบประมาณจะเห็นว่ามันไม่สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลพยายามบอกว่าเป็นนโยบายสำคัญ รัฐบาลตั้งงบประมาณในการบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากไว้แค่ 623 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 จากงบประมาณยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่ได้งบฯถึง 733,749 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น