xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเร่งเสริมขีดความสามารถประเทศ ลุยโครงสร้างพื้นฐาน หนุน SMEs อย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เร่งเสริมขีดความสามารถประเทศ เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม สนับสนุน SMEs ส่งเสริมเทคโนโลยี เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างยั่งยืน


วันนี้ (22 พ.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผย รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เร่ง “ขับเคลื่อนประเทศ” ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายและบริการด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางรางและทางอากาศ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับศักยภาพ SMEs ด้วยการพัฒนา Ditigal Marketing ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เติบโต กระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงและยั่งยืน ทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศให้เท่าเทียม

ทั้งนี้ ภาพรวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ก่อสร้างและขยายช่องทางจราจรถนน รวมทั้งสิ้นกว่า 11,583 กม. พัฒนาถนนเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว 115 โครงการ ระยะทางรวม 801 กม. พัฒนาโครงข่าย Motorway เพิ่มขึ้นเป็น 260.027 กม.เพิ่ม Motorway พัทยา-มาบตาพุด เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก นอกจากนี้ รัฐบาลยังพัฒนาระบบรถไฟฟ้าทำให้มีโครงข่ายพร้อมให้บริการรวมทั้งสิ้น 169.5 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้ว 6 สี 9 เส้นทาง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 สาย รวม 156 กม. เตรียมผลักดันเข้าเป็นโครงการ PPP ได้แก่ สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง/รังสิต-มธ.รังสิต และสีแดงอ่อน บางซื่อ-หัวหมาก/ตลิ่งชัน-ศาลายา/ตลิ่งชัน-ศิริราช เป็นต้น รัฐบาลนี้ยังผลักดันการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 9 โครงการ เพิ่มทางคู่เป็น 2,003 กิโลเมตร ส่งผลให้สัดส่วนรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 68% ของโครงข่ายทั่วประเทศ และเดินหน้ารถไฟความเร็วสูง 2 โครงการ ได้แก่รถไฟความเร็วสูงระยะที่1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมาและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งได้มีการลงนามในสัญญาร่วมทุนแล้วและอยู่ระหว่างเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่หรือย้ายสาธารณูปโภคและเวนคืนที่ดิน ขณะที่เพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานหลักและท่าอากาศยานภูมิภาคในช่วงปี 2558 - 2563 เพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน ทอท. รวม 101 ล้านคนต่อปี ปริมาณการขนส่งทางน้ำเพิ่มเป็น 355.79 ล้านตัน ท่าเรือแหลมฉบังมีตู้สินค้าผ่านท่ามาเป็นอันดับที่ 21 ของโลก รวมทั้งผลักดันโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับตู้สินค้าเป็น 18 ล้านที.อี.ยูต่อปี
นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามความเดือดร้อนด้านการเดินทางของพี่น้องประชาชนมาตลอด โดยเร่งรัดแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างล่าช้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น โครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 แก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่เกิดจากรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสาร

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยการเร่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทย SMEs พัฒนา Digital Marketing เพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ให้กับสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ ต่อยอดธุรกิจสู่สากล ด้วยนวตกรรมและการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุน SMEs ในอุตสาหกรรมอาหารไม่ต่ำกว่า 30 บริษัท โดยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ สร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ และล่าสุดสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน (ฉบับที่ 2) 2563 ด้วย รวมทั้งเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตร โครงการเน็ตประชารัฐ โดยขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ครอบคลุมหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลจานวน 24,700 หมู่บ้าน ระบบธุรกรรมการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โครงการ e-Payment ภาครัฐ รวมทั้งการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก

นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมุ่งพลิกโฉมประเทศไทยด้วยหลักการ Thai First คือ “ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” เพื่อโครงการต่างๆ เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศได้รับประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม


กำลังโหลดความคิดเห็น