หน.พรรคกล้า ติงรัฐกู้เพิ่ม 7 แสนล้านสะท้อนเสียงลมหายใจเฮือกสุดท้ายผู้ประกอบการ กรอบเงินกู้ชนเพดาน ชี้ สำคัญอยู่ที่ใช้ถูกทางหรือไม่ แนะ ต้องพุ่งเป้าผู้ประกอบการรายเล็ก SMEs ร้านอาหาร และภาคบริการ
วันนี้ (19พ.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลมีมติออกเงินกู้อีก 700,000 ล้านว่า นับเป็นรัฐบาลที่ออก พรก. กู้เงินฉุกเฉินนอกระบบงบประมาณ ถึงสองครั้งเป็นรัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์ โดยครั้งแรกสมัย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ตนเป็น รมว.คลัง เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจโลก Hamburger สำเร็จด้วย พรก.ไทยเข้มแข็ง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นไวเป็นอันดับ 2 ของโลก และอีกครั้งในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุงเหตุแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้เพราะโครงการไม่พร้อม
นายกรณ์ กล่าวว่า มาถึงรัฐบาลนี้ออก พรก.พิเศษกู้เงินแก้วิกฤตโควิดสองรอบ (1ล้านล้าน+7แสนล้าน) รวม 1.7 ล้านล้านบาท เท่ากับ 10% ของ GDP รอบล่าสุดนี้ ก้อนแรก 7 แสนล้านคือการกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณปี 2565 ก้อนสองอีก 7 แสนล้านโดยออกเป็นพรก.พิเศษ รวม 1.4 ล้านล้าน รวมสองปี การกู้ทั้งหมดของ ‘64 และ ‘65 รวมเกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 20% ของ GDP สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำ และฟื้นช้าเพราะวัคซีนยังไม่เรียบร้อยดี คนไทยยังกลับไปทำมาหากินยังไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องกู้ และกู้โดยไม่มีทางเลือกอื่น
อย่างไรก็ตามหากถามว่า การกู้ครั้งใหม่นี้มีผลต่อเสถียรภาพทางการคลังหรือไม่ คำตอบคือในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงิน คำตอบคือ ไม่กู้ไม่ได้อยู่ดี โดยที่ ‘ภาระต่องบประมาณ’ ยังรับได้อยู่ (สัดส่วนงบดอกเบี้ยและงบคืนเงินต้น เทียบกับงบรายจ่ายโดยรวมของรัฐบาล) แต่นั่นเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยช่วงนี้ต่ำมาก และเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นว่าดอกเบี้ยนโยบายประเทศอื่นจะปรับขึ้น เพราะสัญญาณเงินเฟ้อเริ่มกลับมาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ๆเช่น สหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป ทั้งหมดจะไม่เป็นปัญหาหากเศรษฐกิจเราฟื้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้า GDP เราโตได้เฉลี่ยเพียงปีละ 2-3% ไปอีก 4-5 ปี เราอาจจะเริ่มมีปัญหา ดังนั้นการใช้เงินจึงต้องเข้าเป้า และนี่คือ โจทย์ที่สำคัญที่สุด ต้องกู้แต่ต้องใช้เงินกู้ให้คุ้มที่สุด
“รอบแรก 1 ล้านล้านบาทผมให้แค่ 6/10 คะแนน จากส่วน’เยียวยา’ ผมถือว่ารัฐบาลทำได้ดี ไม่ว่าจะเป็น ‘เราไม่ทิ้งกัน’ หรือ ‘คนละครึ่ง’ ฯลฯ แต่ที่หัก 4 คะแนน ผมว่าผิดเป้า เพราะเอาไป ‘ฟื้นฟู’ ในเรื่องไม่เป็นเรื่องเสียเยอะ และเบิกจ่ายช้ามาก ไม่สมกับเป็น ‘งบฉุกเฉิน’ ตามนิยามของ ‘พรก.’ รอบใหม่นี้ไม่ควรแจกแนวเดิม และไม่ควรมีเรื่องฟื้นฟูไม่เป็นเรื่องอีกเลย แต่ต้องยิงให้เข้าเป้า นั่นคือเป้าหมายหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการขนาดเล็ก SMEs ร้านอาหาร ธุรกิจภาคบริการทั้งระบบให้อยู่รอดจนถึงการฉีดวัคซีนครบตามเป้า” อดีต รมว.คลัง กล่าว
นายกรณ์ กล่าวาว่า พรรคกล้า เคยเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเพื่อช่วยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร แต่ก็ถูกกระทรวงการคลังปฏิเสธ ส่วนในเงินกู้ 7 แสนล้านใหม่ มีส่วนที่กันไว้เพื่อการฟื้นฟูสูงถึง 270,000 ล้าน ตรงนี้ก็จะนำไปสู่ความผิดพลาดซํ้ากับปีที่ผ่านมา ตรงนี้ต้องปรับ และสำคัญที่สุดที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องเร่งทำคือ 'ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ' มิเช่นนั้นเงินกู้ทั้งหมดนี้ก็จะถูกละลายหายไปโดยที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ทำให้คนไทยรู้สึกมีความหวังมากขึ้น ทั้งหมดนี้คือ เสียงสะท้อนจากเฮือกสุดท้ายของผู้ประกอบการ รวมไปถึงกรอบเงินกู้ที่ล้นชนเพดานแล้ว