xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ เสนอปล่อยตัวชั่วคราวนักโทษคดียังไม่สิ้นสุด ลดความแออัดในเรือนจำ คุมโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา เสนอนายกฯ ลดจำนวนผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 โดยลดความแออัดในเรือนจำ ให้พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี หรือคดียังไม่สิ้นสุด นำเงินกองทุนยุติธรรมจ่ายค่าปรับให้ผู้ต้องขังที่กักขังแทนค้่าปรับ พร้อมตรวจเชื้อ-กักตัวผู้พ้นโทษก่อนปล่อยกลับสู่สังคม

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 64 นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางและมาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้มีการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2564 เพื่อติดตามการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมากตั้งแต่ในช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา และเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสําคัญ ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกําหนดมาตรการและแนวทาง ในการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถดํารงชีวิตได้อย่างปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ประกอบกับ จากข้อมูลการติดเชื้อของผู้ต้องขังในเรือนจําทั่วประเทศมีจํานวนเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมาธิการเห็นควร มีข้อเสนอแนะมายังท่านในฐานะผู้อํานวยการศูนย์สถานการณ์โควิด-19 เพื่อพิจารณาดําเนินการ ดังนี้

1. ควรเร่งจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อประชาชน คนไทยและผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศ และควรมีระบบและแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดปัญหาความสับสนของประชาชนในการเข้าถึงวัคซีน รวมทั้งควรคํานึงถึงสิทธิของประชาชน กลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบเทคโนโลยี เป็นต้น ให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว

2. สําหรับสิทธิในการเข้าถึงวัคซีน ควรกําหนดแนวทางให้ทุกกลุ่มได้รับสิทธิลงทะเบียนฉีดวัคซีนคู่ขนานไปกับการลงทะเบียนของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข บุคคลที่มีโรคประจําตัว และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนได้รับวัคซีน ที่รวดเร็วขึ้น และป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลและลดความเหลื่อมล้ําในสังคม

3. ปัจจุบันมีผู้ต้องขังและนักโทษในเรือนจําติดเชื้อโควิด-19 เป็นจํานวนมาก ดังนั้น เพื่อลดความแออัดในเรือนจําและทัณฑสถาน จึงเห็นว่า กรมราชทัณฑ์และสํานักงานกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ควรพิจารณาแนวทางการปล่อยชั่วคราวสําหรับผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และคดียังไม่ถึงที่สุด รวมทั้งควรพิจารณานําเงินกองทุนยุติธรรมมาจ่ายค่าปรับให้แก่ผู้ถูกกักขัง แทนค่าปรับหรือนํามาตรการการพักโทษมาใช้บังคับ เพื่อลดความแออัดและการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยต้องกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวในมิติด้านกฎหมาย เพื่อไม่ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ โดยประสาน หน่วยงานในกระบวนการยุติรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

ทั้งนี้ ก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขังและนักโทษซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงและเข้าข่ายการติดเชื้อสูง ควรต้องดําเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 และส่งตัวเข้าพื้นที่ควบคุมโรคของรัฐ (State Quarantine) ก่อนการปล่อยตัวสู่ครอบครัวและสังคม สําหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ควรมีมาตรการส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลสนามที่มีมาตรการควบคุมป้องกันการหลบหนี ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจํา พ.ศ. 2559 หรืออาจให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแยกการรักษาผู้ป่วยจากเรือนจําเป็นการเฉพาะในพื้นที่ทางทหารในแต่ละจังหวัด

4. ปัจจุบันเรือนจําและทัณฑสถานถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีการติดเชื้อจํานวนมาก จึงควรมีการบริหารจัดการและมาตรการป้องกันโรคอย่างเป็นระบบ รวมทั้งควรมีการเร่งฉีดวัคซีนป้องกัน โรคโควิด-19 ให้แก่ผู้ต้องขัง นักโทษ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเรือนจําและทัณฑสถาน

5. ปัจจุบันการนําเสนอข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการนําเสนอในหลายช่องทาง ทั้งข้อมูลที่เป็นจริงและข่าวปลอม (Fake News) ซึ่งทําให้ประชาชน เกิดความสับสนและความกังวลในการดํารงชีวิตประจําวัน ดังนั้น จึงเห็นว่ารัฐบาลควรมีการปรับกลยุทธ์ ในการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในมาตรการควบคุมโรคและการเข้าถึงวัคซีนได้อย่าง ถูกต้องและรวดเร็ว

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา








กำลังโหลดความคิดเห็น