“รมช.ธรรมนัส” ตรวจราชการ จ.พะเยา ติดตามความคืบหน้าโครงการขุดอ่างเก็บน้ำห้วยเหยี่ยน-หนองเล็งทราย แก้น้ำแล้ง-น้ำท่วม เล็งแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พร้อมเยี่ยมสวนลิ้นจี่ แปลงเรียนรู้การผลิตไม้ผลอัตลักษณ์ที่ได้มาตรฐาน
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เวลาวันหยุดราชการนำคณะตรวจเยี่ยมติดตามโครงการขุดอ่างเก็บน้ำห้วยเหยี่ยน อ.เมืองพะเยา บนพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำหนองเล็งทราย อ.แม่ใจ บนพื้นที่ 5,563 ไร่ ซึ่งหนองเล็งทราย เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำโขง และเป็นพื้นที่ต้นลำน้ำอิงก่อนไหลลงสู่กว๊านพะเยา
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวดำเนินการภายใต้งบประมาณกลาง อนุมัติโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หากแล้วเสร็จจะมีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่และสามารถทำการเกษตรในพื้นที่ได้ตลอดปี อีกทั้งยังช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาด้านอุทกภัยได้ด้วย
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ทั่วไปจากสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก รัฐบาลจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาบริหารจัดการน้ำในพื้นอย่างเป็นระบบแบบยั่งยืน พร้อมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการสร้างรายได้แก่พี่น้องเกษตรกรและประชาชนโดยรอบ ซึ่งโครงการขุดอ่างเก็บน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำเหล่านี้นี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ตามเป้าหมายจะแล้วเสร็จในปี 2564 จะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา ไม่ขาดแคลนน้ำอีกต่อไป ซึ่งจริงๆแล้วในพื้นที่มีต้นน้ำบนดอยที่ไหลตลอด เพียงแต่ไม่มีอ่างกักเก็บน้ำ เมื่อน้ำไหลลงมาจากต้นน้ำ ก็แห้งหายไป แต่จากนี้เมื่อมีอ่างกักเก็บน้ำพื้นที่จะเกิดความอุดมสมบูรณ์
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาหนองเล็งทราย อ.แม่ใจ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 5 พันไร่ เป็นเกาะกลางน้ำรูปหัวใจ ถือเป็นหนองน้ำเดิมที่ได้มีการปรับขุดลอกพัฒนาให้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำได้มากขึ้น อีกทั้งยังจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นพุทธอุทยาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนอีกทางด้วย
จากนั้นได้ ร.อ.ธรรมนัส ได้เดินทางเยี่ยมเยียนสวนลิ้นจี่ปลอดสารพิษ ตามมาตรฐาน SDGSPGS จาก แปลงเรียนรู้การผลิตไม้ผลอัตลักษณ์ที่ได้มาตรฐานจังหวัดพะเยา เป็นลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไม้ผลที่เป็นอัตลักษณ์ที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ของภาคเหนือ สนับสนุนโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยาการส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีเกษตรผู้ร่วมกลุ่มโครงการ 9 ราย บนพื้นที่ประมาณ 100 กว่าไร่ แต่ละปีสามารถสร้างรายได้หลักแสนต่อราย