“หมอสุกิจ” เผย ปธ.สภาฯ นัดประชุม 4 ฝ่ายเตรียมพร้อมประชุมสภาสิ้นเดือนนี้ จ่อเคาะมาตรการเข้มป้องกันโควิดภายในรัฐสภา
วันนี้ (13 พ.ค.) นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมรัฐสภา หลังมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภา สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ปี 2564 ว่า ในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา พร้อมด้วยรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญผู้แทนคณะรัฐมนตรี, ผู้แทนวิปรัฐบาล, วิปฝ่ายค้าน และผู้แทนวุฒิสภา มาหารือถึงการเตรียมความพร้อมการประชุมสภาฯ ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนนี้ เนื่องจากมีกฎหมายที่สำคัญที่คณะรัฐมนตรีส่งให้สภาฯ พิจารณา ได้แก่ พระราชกำหนด (2 ฉบับ) คือ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สภาผู้แทนราษฎรจะต้องรีบพิจารณาโดยเร็ว เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบประกาศใช้แล้ว และร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่คณะรัฐมนตรีจะเสนอมายังสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน หรือภายในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ ก่อนเสนอต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นภายใน 20 วัน หรือไม่เกิน 18 กันยายนนี้
เบื้องต้น นายชวนได้กำหนดจะพิจารณาร่างพระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวในวันที่ 27 พฤษภาคม ซึ่งหากไม่แล้วเสร็จก็จะพิจารณาต่อเนื่องในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ จากนั้นในวันที่ 31 พ.ค.จะเริ่มพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ในวาระแรก โดยจะใช้เวลา 3 วัน สิ้นสุดในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ ซึ่งกำหนดเวลาดังกล่าว นายชวนจะเสนอให้ที่ประชุม 4 ฝ่ายได้พิจารณาในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ค.)
นอกจากนี้ นายชวนจะสอบถามความเห็น และรับฟังข้อเสนอจากที่ประชุมถึงมาตรการป้องกัน COVID-19 ที่จะต้องเข้มข้น และแจ้งไปยังแต่ละพรรคการเมืองให้ ส.ส.ของพรรคเตรียมพร้อมการทำหน้าที่ ท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ มีรายงานว่าในการประชุมสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณามาตรการทางสาธารณสุขภายในรัฐสภาที่รุนแรงรัดกุมมากกว่าทุกครั้ง เข้มข้นมากกว่าเดิม เช่น ส.ส. และบุคลากรจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน COVID-19 ซึ่งหากใครยังไม่ได้รับวัคซีนก็จะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อด้วยการสวอบ เพราะหากเกิดการระบาดภายในรัฐสภา หรือภายในห้องประชุมสภาฯ จะเกิดผลเสียหายต่อประเทศ รวมทั้งจะให้ที่ประชุม 4 ฝ่ายได้พิจารณาจะให้ ส.ส.ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเข้าร่วมการประชุมหรือไม่อย่างไร หรือจะมีวิธีการอื่นๆ เพื่อให้การประชุมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และการจำกัดพื้นที่ผู้ติดตาม ส.ส. เป็นต้น