xs
xsm
sm
md
lg

คืบหน้า! เงินกู้ฟื้นฟูท้องถิ่น 4.5 หมื่นล้าน มท.ขีดเส้น 10 มิ.ย. ผู้ว่าฯ สรุปใช้เงิน จี้ห้ามเกินกรอบ ประสาน “รองนายกฯ” แทนรัฐมนตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คืบหน้า! เงินกู้สู้โควิดฟื้นฟูท้องถิ่น 4.5 หมื่นล้าน “มท.” รับลูก บอร์ดกลั่นกรองเงินกู้ชุดใหญ่ แจ้งผู้ว่าฯ/อปท.ทั่วประเทศจัดความสำคัญโครงการ ขีดเส้น 10 มิ.ย.นี้สรุปโครงการที่ท้องถิ่นต้องการ จัดงบฯ ตามกรอบวงเงินที่แต่ละจังหวัดได้รับ ก่อนชงตามคู่มือมหาดไทย หลัง “สำนักนายกฯ” ออกคำสั่ง 99/2564 โยกให้จังหวัดประสาน “รองนายกรัฐมนตรี” แทนรัฐมนตรีตามคำสั่งเดิม พร้อมมติ ครม.โยกวงเงินข้ามหมวดลงโครงการนี้

วันนี้ (12 พ.ค. 64) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้สู้โควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย ให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด

โดยให้จังหวัดพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของข้อเสนอโครงการที่ขอให้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เพื่อกำกับการใช้งบประมาณ "โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก" ภายใต้กลุ่มแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น : ระดับพื้นที่ วงเงิน 45,000 ล้านบาท

“หนังสือดังกล่าวขอให้ผู้ว่าฯ 77 จังหวัด รวม กทม.พิจารณาความสำคัญของข้อเสนอโครงการ โดยให้ข้อเสนออยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่แต่ละจังหวัดได้รับ โดยหากโครงการผ่านบอร์ดระดับจังหวัดแล้ว ให้เร่งนำเสนอกระทรวงมหาดไทย ตามขั้นตอนคู่มือปฏิบัติฯ ภายในเดือน มิ.ย.2564ฯ”

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนนี้ กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เร่งดำเนินการให้ทันวันที่ 10 มิ.ย. 2564 โดยให้ประสานรัฐมนตรีที่รับผิดชอบตามแนวคิดขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด อย่างไรก็ตาม สำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่งมีคำสั่งที่ 99/2564 มอบหมายให้ 6 รองนายกรัฐมนตรีดำเนินการแทน

“อย่างไรก็ตาม สำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่งมีหนังสือชะลอแต่งตั้งรัฐมนตรีที่รับผิดชอบตามแนวคิดขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดออกไปก่อนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยให้รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับงานตรวจราชการภูมิภาคดำเนินการไปก่อน”

ตามไทม์ไลน์ โครงการนี้จังหวัดต้องส่งโครงการให้กระทรวงมหาดไทยภายในวันที่ 10 มิ.ย. 64 ซึ่งรวมถึงแบบรายงานการประเมินความเสี่ยงการทุจริตฯ ของสานักงาน ป.ป.ท.ด้วย

วันที่ 11-20 มิ.ย. 64 หน่วยประมวลผลรวม กระทรวงมหาดไทย จะเสนอทุกโครงการขอความเห็นชอบจาก รมว.มหาดไทย และส่งผลการประมวลถึงสภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ ก่อนเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ พิจารณา ระหว่างวันที่ 21-30 มิ.ย. 64 คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแผนงาน/โครงการก่อนเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ

สำหรับกรอบวงเงินที่แต่ละจังหวัดได้รับตามโครงการฯ ประกอบด้วย เชียงใหม่ 933,047,204 บาท ลำพูน 384,623,014 บาท ลำปาง 608,419,472 บาท แม่ฮ่องสอน 847,106,181 บาท เชียงราย 771,379,218 บาท พะเยา 518,644,167 บาท แพร่ 487,752,655 บาท น่าน 550,480,972 บาท พิษณุโลก 556,163,692 บาท ตาก 744,435,805 บาท เพชรบูรณ์ 560,905,700 บาท สุโขทัย 532,272,777 บาท

อุตรดิตถ์ 524,228,952 บาท นครสวรรค์ 595,691,124 บาท อุทัยธานี 419,649,303 บาท กำแพงเพชร 517,827,317 บาท พิจิตร 405,808,018 บาท อุดรธานี 686,926,479 บาท เลย 419,010,150 บาท หนองคาย 395,109,750 บาท หนองบัวลำภู 512,676,379 บาท บึงกาฬ 436,380,214 บาท สกลนคร 613,880,236 บาท นครพนม 595,933,667 บาท มุกดาหาร 440,965,149 บาท ขอนแก่น 731,104,313 บาท กาฬสินธุ์ 790,477,111 บาท

มหาสารคาม 549,542,189 บาท ร้อยเอ็ด 588,237,991 บาท นครราชสีมา 999,491,144 บาท ชัยภูมิ 553,490,249 บาท บุรีรัมย์ 802,675,451 บาท สุรินทร์ 700,303,126 บาท อุบลราชธานี 710,329,541 บาท ยโสธร 501,136,958 บาท ศรีสะเกษ 758,213,800 บาท อำนาจเจริญ 556,055,695 บาท

พระนครศรีอยุธยา 627,805,993 บาท สระบุรี 478,264,054 บาท ลพบุรี 587,076,035 บาท ชัยนาท 547,281,323 บาท สิงห์บุรี 434,864,933 บาท อ่างทอง 491,374,497 บาท นครปฐม 515,520,304 บาท นนทบุรี 518,335,853 บาท ปทุมธานี 544,535,151 บาท สมุทรปราการ 750,975,299 บาท

ราชบุรี 536,187,175 บาท กาญจนบุรี 683,086,331 บาท สุพรรณบุรี 599,090,912 บาท เพชรบุรี 448,586,536 บาท ประจวบคีรีขันธ์ 483,820,107 บาท สมุทรสงคราม 316,768,800 บาท สมุทรสาคร 530,206,024 บาท ชลบุรี 1,247,918,572 บาท ฉะเชิงเทรา 540,028,537 บาท ระยอง 854,746,451 บาท ปราจีนบุรี 503,440,467 บาท จันทบุรี 415,969,174 บาท ตราด 438,793,694 บาท นครนายก 396,660,041 บาท สระแก้ว 626,875,158 บาท

สุราษฎร์ธานี 668,595,099 บาท ชุมพร 405,678,465 บาท นครศรีธรรมราช 692,798,413 บาท พัทลุง 586,864,003 บาท สงขลา 732,770,187 บาท ภูเก็ต 1,000,249,488 บาท กระบี่ 556,029,025 บาท ตรัง 509,935,875 บาท พังงา 440,561,555 บาท ระนอง 497,768,396 บาท สตูล 432,951,626 บาท ยะลา 598,571,319 บาท นราธิวาส 708,613,011 บาท และปัตตานี 750,026,951 บาท

เมื่อวานนี้ (11 พ.ค. 64) ครม.เพิ่งเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงโครงการนี้ โดยนายกฯ ย้ำว่าจะเร่งดำเนินการทันทีเมื่อสถานการณ์โควิดบรรเทาลง โดยจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เป็นกลไกสำคัญ ภายใต้การติดตามของรองนายกรัฐมนตรีทุกคน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้ ครม.เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ขอนำวงเงินในส่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 85,000 ล้านบาท มาใช้ในหมวดการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน

“ซึ่งเป็นการโยกวงเงินข้ามหมวดครั้งที่ 3 รวมทั้งให้หน่วยงานชะลอการนำเสนอโครงการในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมออกไป ยกเว้นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและฐานรากที่ ครม.เมื่อ 23 พ.ย. 2563 อนุมัติกรอบวงเงินนี้ไว้ 45,000 ล้านบาท ให้เดินหน้าต่อ”

ทั้งนี้ ให้เปลี่ยนแปลงกลไกการเสนอโครงการให้สอดคล้องกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 99/2564 ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยระดับจังหวัดรับผิดชอบดำเนินการส่งต่อให้รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการแต่ละภูมิภาค โดยไม่ต้องส่งผ่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบระดับจังหวัดตามเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น