xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กหอการค้าไทย” ตบเท้าจี้ มท.1 ประสานท้องถิ่นทั่ว ปท.จัดแผนรองรับฉีดวัคซีนทุกพื้นที่ ชงใช้งบฉุกเฉินผู้ว่าฯ “บิ๊กป๊อก” รับลูกจ่อขับเคลื่อนร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บิ๊กหอการค้าไทย” ตบเท้าจี้ มท.1 ประสานท้องถิ่น “รองรับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ” เปิดตัว “ทีมสนับสนุนกระจาย/ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ” กว่า 372 แห่ง ส่วนกลาง 82 แห่ง ต่างจังหวัด 290 แห่ง เน้นบริษัท/โรงงานใหญ่ในภูมิภาค ตามนโยบาย 99 วันแรกฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมเสนอใช้งบฉุกเฉิน ผู้ว่าฯ จัดหาเครื่องตรวจ ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ คัดกรองเชิงรุก พร้อมตั้ง “กกร.แต่ละจังหวัด” เป็นกรรมการ ด้าน “บิ๊กป๊อก” รับลูกทันทีรับไปพิจารณา จ่อขับเคลื่อนภารกิจเร่งฉีดวัคซีนร่วมกัน
วันนี้ (6 พ.ค. 64) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้การต้อนรับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายจิรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการบริหารหอการค้าไทย

ในโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยใหม่ (ปี 2564-2565) และนำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแนวทางการมีส่วนร่วมและสนับสนุนภาครัฐของหอการค้าไทยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

โดยเว็บไซต์กระทรวงมหาดไทยระบุว่า พลเอก อนุพงษ์กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่า ได้ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ

1) การรณรงค์ประชาชนปฏิบัติตามหลัก DMHTTA คือ รักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 และใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ อย่างเคร่งครัด

และ 2) การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชน โดยมีกลไกการบริหารสถานการณ์ฯ เป็น 2 ระดับ คือ ศบค. และศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นคณะทำงานชุดเล็กในการพิจารณาเสนอมาตรการให้ ศบค.พิจารณา

ขณะนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกิดการแพร่ระบาดของโรคฯ ในชุมชนที่มีประชาชนพักอาศัยแออัดหนาแน่น จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ สำหรับการบริหารจัดการในแต่ละจังหวัดเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

พลเอก อนุพงษ์บอกว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดสถานที่ฉีดวัคซีนในแก่ประชาชน ซึ่งถือเป็นการบูรณาการร่วมกันในการป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขอขอบคุณหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่

และขอเป็นกำลังใจในการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) และคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจระดับจังหวัด (กรอ.) ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารงานจังหวัดและการแก้ไขสถานการณ์ในจังหวัด อันจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจในพื้นที่เดินได้ และกระทรวงมหาดไทยพร้อมให้การสนับสนุนการประสานงานในระดับพื้นที่เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

ขณะที่เว็บฯ ดังกล่าวอ้างคำพูดของ นายสนั่น อังอุบลกุล ว่า ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย รวมถึงทุกกลไกของกระทรวงมหาดไทย ในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มาอย่างเข้มข้นและจริงจังอย่างต่อเนื่อง

โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดทำแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งได้จัดประเด็นเร่งด่วนและสำคัญในการดำเนินการ ได้แก่

1. เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ โดยภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนภาครัฐด้านสถานที่สำหรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชนทั่วประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาเดินได้อย่างรวดเร็ว

2. เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ด้วย Digital Transformation เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

และ 3. การแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้สะดวก (Ease of Doing Business) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจได้สะดวก

ขณะที่เพจ Thai Chamber ของหอการค้าไทย ระบุว่า นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และคณะได้มีการนำคณะกรรมการฯ เข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เพื่อหารือแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ตามนโยบาย Connect the dots

ทั้งนี้ ภารกิจเร่งด่วนของหอการค้าไทยภายใน 99 วันแรก คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น และแก้ปัญหาของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ขณะเดียวกันก็วางรากฐานไปสู่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนดังกล่าว คือการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ

“ซึ่งความคืบหน้าของทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีนในขณะนี้ได้มีการรวบรวมสถานที่ฉีดวัคซีนทั่วประเทศจากภาคเอกชนจำนวน 372 แห่ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 82 แห่ง ต่างจังหวัด 290 แห่ง รวมทั้งสนับสนุนระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ IT พรินเตอร์ เครื่องอ่านบัตร อาสาสมัคร พร้อมอาหารและน้ำดื่ม”

นอกจากนั้น ยังเพิ่มหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังบริษัทและโรงงานใหญ่ๆ ที่มีพนักงานจำนวนมาก เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน และหลังจากนี้จะได้นำต้นแบบของการบริหารจัดการพื้นที่เอกชนที่ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด เพื่อครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันหรือหยุดยั้งการแพร่ระบาดในพื้นที่ หอการค้าไทยได้ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือฝ่ายปกครองของจังหวัดในแต่ละพื้นที่เข้มงวด “การอนุญาตสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงมาก รวมถึงเข้มงวด ตรวจตราการจัดกิจกรรมงานรื่นเริง งานประเพณี ซึ่งแม้มีการกำหนดจำนวนคนไว้ แต่ก็อาจมีการรวมตัวและเคลื่อนย้ายคนไปร่วมงานทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ พร้อมขอให้ดำเนินการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน รวมทั้งผู้ควบคุมดูแลอย่างจริงจังและรวดเร็ว”

นอกจากนั้น ยังเสนอให้แต่ละจังหวัดมีการสื่อสารข้อมูลไปยังทุกภาคส่วน ในลักษณะ one single message ที่รวดเร็วและถูกต้อง โดยเฉพาะข้อมูลสถานการณ์การระบาดของพื้นที่ การเตรียมความพร้อมของพื้นที่ เช่น สถานที่การกักตัว และสถานที่ฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน

รวมทั้งขอให้จังหวัดพิจารณานำงบประมาณฉุกเฉิน (งบ ผวจ.) มาใช้ในการจัดหาเครื่องตรวจ การช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ และการคัดกรองเชิงรุกประชาชนในจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์

สำหรับการเตรียมความพร้อม “สถานที่รองรับการฉีดวัคซีนของแต่ละจังหวัด” นั้น หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และเครือข่าย พร้อมสนับสนุนสถานที่ในการฉีดวัคซีน (เพิ่มเติมจากโรงพยาบาลและสถานที่ที่รัฐจัดหาให้) โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยมีข้อสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นผู้นำในการประสานความร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ซึ่งจะมีความพร้อมทั้งบุคลากร งบประมาณ และมีความชำนาญในพื้นที่

นอกจากนั้น ขอให้พิจารณาแต่งตั้งให้ภาคเอกชน หรือ กกร.แต่ละจังหวัด ร่วมเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการในคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อในระดับจังหวัด เพื่อร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐในการสนับสนุนด้านสาธารณสุข การกำหนดมาตรการ ควบคู่กับการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจของพื้นที่

อาทิ การปรับลดอัตราภาษีป้ายที่มีอัตราการจัดเก็บใหม่ หรือยกเว้นการจัดเก็บออกไปก่อน 1-2 ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค เป็นต้น โดยผลจากการประชุม พล.อ.อนุพงษ์ได้รับข้อเสนอของหอการค้าไทยไปพิจารณา และพร้อมรับจะขับเคลื่อนภารกิจเร่งฉีดวัคซีนร่วมกัน เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วที่สุด

สำหรับงบฉุกเฉินผู้ว่าฯ 77 จังหวัด เมื่อปี 2563 มหาดไทยได้อนุมัติงบฉุกเฉินเพิ่มจังหวัดละ 50 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นงบที่ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ข้อ 18 กรณีขอขยายวงเงินทดรองราชการในเชิงการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินทั้ง 76 จังหวัด จากจังหวัดละ 10 ล้านบาท ขยายวงเงินเป็นจังหวัดละ 50 ล้านบาท ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเสนอ


กำลังโหลดความคิดเห็น