มท.แจงตัวเลข 23,302 หมู่บ้าน/ชุมชน ไตรมาสแรกปี 64 เข้าข่ายมีปัญหายาเสพติดขั้นสูงสุด “ศอ.อส.มท.” เปิดผลประเมินสภาพปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน 82,428 แห่งทั่วประเทศ สำรวจรอบแรกปี 2564 “บุรีรัมย์-อุบลฯ-กาฬสินธุ์-สกลนคร-ลำปาง-นครศรีธรรมราช-ปัตตานี” มีปัญหาเกิน 100 แห่ง เทียบผลสำรวจ 2 ปี ผู้เสพ/ผู้ค้า “กาฬสินธุ์” จาก 25 แห่ง ทะลุเป็น 247 แห่ง จ่อชงผู้ว่าฯ แก้ปัญหาก่อนตรวจสอบซ้ำเดือน มิ.ย.นี้
วันนี้ (28 เม.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย (ศอ.ปส.มท.) ได้เปิดเผยผลการประเมินหมู่บ้าน/ชุมชน รอบที่ 1 ประจำปี 2564 “สภาพปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ” ทั้งหมดจำนวน 82,428 หมู่บ้าน/ชุมชน จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ศูนย์ปฏิบัติการฯ ป.ป.ส.9 ภาค ระดับอำเภอ/เขต กทม. ร่วมกับสถานีตำรวจภูธร สถานีตำรวจนครบาล โดยสำรวจผ่านระบบสารสนเทศยาเสพติดจังหวัด (NISPA) ระยะตั้งแต่ 1 ม.ค. - 28 ก.พ. 2564
ทั้งนี้พบว่า หมู่บ้านและชุมชนที่อยู่ในระดับ “ไม่มีปัญหา” จำนวน 59,126 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 71.73
ขณะที่หมู่บ้าน/ชุมชน ที่มีปัญหาเสพติด มีจำนวน 23,302 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 28.27 แยก เป็นหมู่บ้าน/ชุมชน ที่มีผู้เสพ จำนวน 18,380 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 22.30 พบผู้เสพ 53,347 คน เป็นหมู่บ้าน/ชุมชน ที่มีผู้ค้า จำนวน 1,471 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.78 พบผู้เสพ 7,091 คน
ข้อมูลของ ป.ป.ส.ในการประเมินรอบแรกจะถูก ศอ.ปส.จังหวัดนำไปแก้ปัญหาในพื้นที่ ก่อนที่จะมีการประเมินสภาพปัญหายาเสพติด รอบที่ 2 ปี 2564 ตั้งแต่ 1 มิ.ย. - 31 ก.ค. 2564 นี้ เพื่อควบคุมรักษาสถานะหมู่บ้าน/ชุมชนที่ไม่มีปัญหายาเสพติด ไม่ให้ลดจำนวนลง และเร่งดำเนินการการลดระดับหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดมากไปสู่ระดับปานกลาง น้อย และไม่มียาเสพติดเลยในอนาคตต่อไป
สำหรับในระดับพื้นที่จังหวัด ในส่วนของหมู่บ้านและชุมชนที่พบว่ามีสภาพปัญหายาเสพติด จำนวน 23,302 แห่ง นั้น มีจังหวัดที่มีหมู่บ้าน ที่มีปัญหาในหลักมากกว่า 100 แห่ง เช่น บุรีรัมย์ 146 แห่ง อุบลราชธานี 199 แห่ง กาฬสินธุ์ 247 แห่ง สกลนคร 173 แห่ง ลำปาง 105 แห่ง นครศรีธรรมราช 174 แห่ง และปัตตานี 103 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าเมื่อเปรียบเทียบเฉพาะหมู่บ้านและชุมชนที่มีปัญหายาเสพติด ทั้งผู้เสพและผู้ค้า ระหว่างการสำรวจรอบที่ 2/2563 กับครั้งที่ 1/2564 พบว่า หลายจังหวัดอัตรามีอัตราสูงขึ้นอย่างน่าสนใจ เช่น จ.ลพบุรี เพิ่มขึ้น 9 หมู่บ้าน จ.สมุทรปราการ เพิ่ม 10 หมู่บ้าน จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่ม 10 หมู่บ้าน จ.สุรินทร์ เพิ่ม 10 หมู่บ้าน
จ.เชียงใหม่ จาก 12 แห่ง เพิ่มเป็น 81 แห่ง จ.ตาก จาก 4 แห่ง เพิ่มเป็น 41 แห่งจ.ชัยภูมิ จาก 47 แห่ง เพิ่มเป็น 87 แห่ง จ.บุรีรัมย์ จาก 96 แห่ง เพิ่มเป็น 146 แห่ง จ.อุบลราชธานี จาก 140 แห่ง เพิ่มเป็น 199 แห่ง จ.บึงกาฬ จาก 24 แห่ง เพิ่มเป็น 83 แห่ง จ.มุกดาหาร จาก 27 แห่ง เพิ่มเป็น 70 แห่ง
โดยพบว่า จ.กาฬสินธุ์ มีอัตราสูงขึ้น จาก 25 แห่ง เป็น 247 แห่ง จ.อุดรธานี จาก 94 แห่ง เป็น 235 แห่ง จ.ลำปาง จาก 60 แห่ง เป็น 105 แห่ง และ จ.นครศรีธรรมราช จาก 160 แห่ง เป็น 174 แห่ง
ขณะที่จังหวัดที่หมู่บ้านและชุมชนที่มีปัญหายาเสพติด ทั้งผู้เสพและผู้ค้า “ลดลง” เช่น จ.ศรีสะเกษ ลดลง จาก 149 แห่ง เหลือ 77 แห่ง จ.ขอนแก่น ลดลง จาก 144 แห่ง เหลือ 94 แห่ง จ.สกลนคร ลดลง จาก 241 แห่ง เหลือ 173 แห่ง