xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ให้การเคหะฯ ต่อสัญญาเงินกู้เบิกเกินบัญชี 500 ล้าน กันขาดสภาพคล่อง เพิ่มเยียวยาลำไย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบให้การเคหะฯ ต่ออายุสัญญาเงินกู้เบิกเกินบัญชี 500 ล้าน จากออมสิน อีก 3 ปี สำรองไว้กรณีขาดสภาพคล่อง พร้อมขยายจำนวนครัวเรือนเกษตรกรชาวสวนลำไย รับเงินเยียวยาปี 63

วันนี้ (20 เม.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ต่ออายุสัญญากู้เงินเบิกเกินบัญชีจากธนาคารออมสิน วงเงิน 500 ล้านบาท ออกไปอีกเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 11 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อเป็นวงเงินสำรองในกรณีที่ กคช.ขาดเงินทุนหมุนเวียนและมีความจำเป็นต้องใช้เงิน สามารถเบิกเงินเกินบัญชีมาใช้ในการดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งวงเงินดังกล่าวได้บรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2564 แล้ว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี ทางธนาคารออมสินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เป็น MOR ของธนาคารออมสิน ลบร้อยละ 2.75 ต่อปี (MOR - 2.75) จากเดิม ลบร้อยละ 1.50 ต่อปี (MOR - 1.5) หาก กคช.ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ธนาคารออมสินจะคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ในสัญญาอีกร้อยละ 2 ต่อปี

น.ส.รัชดายังกล่าวว่า ครม.เห็นชอบขยายจำนวนครัวเรือนเกษตรกรเป้าหมายในโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 จากจำนวน 202,013 ครัวเรือน เป็น 202,173 ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 160 ครัวเรือน เนื่องจากเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับสิทธิเยียวยาแต่ตกหล่นในระบบ โดยเบิกจ่ายภายใต้กรอบวงเงินเดิมของโครงการ จำนวน 3,440 ล้านบาท และเห็นชอบขยายระยะเวลาโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2564 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ประสบปัญหาภาวะลำไยล้นตลาดในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.เคยมีมติเมื่อ 26 ม.ค. 2564 ขยายจำนวนครัวเรือนเกษตรกรในโครงการมาแล้วครั้งหนึ่ง จาก 200,000 ครัวเรือน เป็น 202,013 ครัวเรือน สำหรับการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยในครั้งนี้ยังคงใช้หลักการเดิม คือ เยียวยาไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นผู้ดำเนินการโอนเงินให้เกษตรกรโดยตรง


กำลังโหลดความคิดเห็น