“นพ.วันชัย” เผย กก.สมานฉันท์ ยังไร้ข้อสรุปชัดเจน ให้อนุฯ ทำข้อเสนอรายประเด็น มอง “เพนกวิน” อดอาหารประท้วง เพราะรู้สึกถูกกฎหมายเล่นงาน แนะใช้ แนวทางยุติธรรมสมานฉันท์คลี่คลาย
วันนี้ (19 เม.ย.) นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ฐานะโฆษกกรรมการสมานฉันท์ กล่าวว่า การประชุมกรรมการสมานฉันท์ ประจำสัปดาห์ ได้เลื่อนออกไปจนกว่าสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายหรือจนกว่าจะเปิดสมัยประชุมสภาฯ อย่างไรก็ดี การประชุมของกรรมการเพื่อหาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติในชั้นกรรมการ มีเพียงให้อนุกรรมการฝ่ายต่างๆ รวบรวมและสรุปความเห็นในส่วนที่รับผิดชอบ
“ยอมรับว่า กรรมการหลัก ไม่มีกระบวนการวิเคราะห์ หรือบทสรุป แต่ได้ให้แต่ละฝ่ายที่รับฟังความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นิสิต นักศึกษาที่จัดขึ้นหลายเวทีเป็นผู้สรุปว่ามีข้อควรพิจารณาไปสู่ทางออกอย่างไร และนัดนำเสนอรายงาน เดิมจะเสนอร่างรายงาน วันที่ 19 เมษายนนี้ แต่ด้วยสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จึงต้องเลื่อนไปก่อน ทั้งนี้ จะหาเวลาพบกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอเนื้อหา ทั้งนี้ เบื้องต้นจะนำเสนอให้ประธานสภาฯ ทราบว่า กรรมการสมานฉันท์เป็นเพียงกรรมการเฉพาะกิจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนระยะยาวต้องมีกรรมการอีกคณะดำเนินการ ซึ่งทราบว่า สถาบันพระปกเกล้านำเสนอไว้แล้ว”
นพ.วันชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางสมานฉันท์ ส่วนตัวสนใจในประเด็นยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยจะนัดพบกับผู้พิพากษาและกระทรวงยุติธรรมเพื่อผลักดันแนวทาง เพราะที่ผ่านมา พบว่า เมื่อเยาวชนทำผิดกฎหมาย จะถูกส่งฟ้องศาล และส่งเข้าสถานพินิจ ที่ตนมองว่า เป็นคุกเด็ก เมื่อพ้นผิดยังมีอัตราการก่ออาชญากรรม ดังนั้นเรื่องดังกล่าวประเทศไทยต้องเรียนรู้และแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่แกนนำคณะราษฎรที่ถูกขังในเรือนจำและอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรม นพ.วันชัย กล่าวว่า สังคมต้องมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจรายละเอียด เพราะยุติธรรมสมานฉันท์ไม่ใช่การไม่เอาผิดใคร แต่คนที่ที่ไม่ถูกพิพากษาแต่ถูกคุมขัง และอดข้าวประท้วง เพราะคนที่ถูกลงโทษไม่คิดว่าตนเองทำผิด และมองว่า ตนเองทำถูกแต่ถูกเล่นงานทางกฎหมาย ไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้รู้สึกต่อต้าน
“ที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมในแบบที่ตัดสิน พิพากษา ซึ่งใช้มานั้นไม่ผิด แต่วันนี้ใช้ไม่ได้ผล เพราะคนที่ถูกลงโทษไม่คิดว่าตนเองทำผิด และไม่ได้ทำผิด เมื่อกระบวนการลงโทษทำให้เกิดความรู้สึกว่าลงโทษนั้นไม่ถูก ดังนั้น แนวทางคลี่คลาย คือ ความยุติธรรมสมานฉันท์ สร้างความเข้าใจ ผ่านการพูดคุยกันตามกติกา ตามกฎหมาย และผู้ที่มีคดียอมรับว่าทำผิด ทั้งนี้ ในกระบวนการนั้นศาลอาญามีศูนย์คุ้มครองสิทธิ ที่ทนายสามารถใช้เป็นช่องทางได้” นพ.วันชัย กล่าว