“สุรชาติ เทียนทอง” อดีต ส.ส.หลักสี่ โอดผู้ป่วยโควิดติดต่อหน่วยงานรัฐไม่ได้ บางแห่งอ้างเตียงไม่พอ วอนภาครัฐเร่งหาเตียงรับผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาโดยด่วน หวั่นผู้ติดเชื้อที่เข้าไม่ถึงการรักษา กลายเป็น "จำเลยสังคม"
เมื่อวันที่ 15 เม.ย.64 นายสุรชาติ เทียนทอง อดีต ส.ส.กทม. เขตหลักสี่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยตั้งคำถามถึงปัญหาเตียงผู้ป่วยโรคโควิด-19 ใน กทม.ว่ามีเพียงพอจริงหรือ? เพราะถ้ามีพอจริง ทำไมถึงมีผู้ป่วยที่ผลตรวจเป็นบวกหลายวันแล้วยังติดค้างไม่ได้เข้ารับการรักษาอยู่หลายราย?
นายสุรชาติ ขยายความต่อไปว่า สรุปแล้วคนที่รู้ผลว่าตัวเองติดเชื้อแล้วและได้ประสานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้วแต่ได้รับคำตอบว่า “เตียงเต็ม” ต้องรอ เขาและครอบครัวควรปฏิบัติตัวอย่างไร? และสังคมควรจะปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไร? ที่ผมถามคำถามเหล่านี้เพราะผมก็คงเหมือนประชาชนคนอื่นๆที่ติดตามข้อมูลข่าวสารของภาครัฐเรื่องจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวัน มาตรการการรองรับผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่รวมถึงแนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานฯผ่านสื่อต่างๆ
สิ่งที่ผมสรุปจากข้อมูลล่าสุดของภาครัฐได้คือ
1.เตียงยังมีเพียงพอสำหรับการรองรับผู้ป่วยในขณะนี้
2.ผู้ที่รู้ตัวว่าติดเชื้อต้องแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้มีการมารับตัวไปรักษา ห้ามอยู่บ้านเฉยๆเพราะจะมีความผิด
แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น แค่ในเขตหลักสี่และจตุจักร และเฉพาะที่ประสานผ่านมาทางผมและทีมงานมีจำนวน 19 ราย บางรายแจ้งเพื่อให้ช่วยประสานหน่วยงานฯในการรับตัวไปรักษา บางรายได้รับแจ้งจากทางกรรมการชุมชนว่ามีผู้ป่วย ต้องการให้เข้าไปฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในชุมชนและมี 3 รายที่รู้ผลตรวจเป็นบวกและได้ติดต่อไปยังหลายหน่วยงานฯตามเบอร์ที่แจ้งผ่านสื่อกันไว้ แต่ทุกที่แจ้งกลับมาตรงกันว่าเตียงไม่พอให้กักตัวเองอยู่ในบ้านจนกว่าจะหาที่ๆมีเตียงว่างได้ ซึ่งบางรายต้องรอมา 5 วันแล้วและยังต้องรอแบบไม่มีกำหนด
Powered by embedfacebookvideo & Embed instagram feed
รายแรกเป็นน้องผู้ชายอายุยังน้อย รู้ผลเมื่อวันที่ 10 เม.ย. พยายามติดต่อตามเบอร์ต่างๆ ทุกที่บอกว่าเต็ม ให้รอ จนมาวันนี้อาการเริ่มไม่ดี มีไข้ ท้องเสีย ผื่นขึ้น ประธานอาสาสาธารณสุข (อสส.)เขตหลักสี่กับ อสส. ภาค กทม.จึงช่วยกันจี้ไปยังหน่วยงานฯถึงได้ความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลแห่งนึงมารับตัวไปเมื่อประมาณ 5 ทุ่มที่ผ่านมา
อีกรายเป็นพี่ผู้หญิง มีโรคประจำตัวคือโรคหอบหืด รู้ผลว่าติดประมาณวันที่ 10 เม.ย.เช่นกัน จนขณะนี้ยังไม่มีการรับตัวไปรักษาแต่อย่างใด
รายล่าสุดคือน้องผู้หญิง อาศัยอยู่ที่คอนโดฯคนเดียว ไปตรวจรอบแรกไม่พบเชื้อ และมีการไปตรวจรอบสอง โรงพยาบาลเพิ่งโทรมาแจ้งผลตอนเย็นนี้ว่าพบเชื้อ ยังไม่มีเตียงว่าง ต้องรอไม่มีกำหนด ให้กักตัวอยู่ในห้อง น้องอาศัยอยู่คนเดียว ที่สำคัญคือทั้งคอนโดฯที่น้องอยู่ยังไม่มีใครรู้ว่ามีผู้ติดเชื้อ
ทุกคนที่กล่าวมามีความไม่รู้ เครียดและกังวล กลัวว่าจะผิดกฏหมาย กลัวว่าตัวเองและครอบครัวจะถูกสังคมรังเกียจ กลัวว่าถ้าคนในชุมชนรู้จะถูกกดดันให้ออกจากบ้านและตัวเองก็ไม่มีที่ไป
ผมไม่ได้ตั้งคำถามเพราะต้องการหาเรื่องหรือให้เป็นประเด็นทางการเมืองและไม่ได้จะโทษหน่วยงานฯและคนปฏิบัติงานเพราะรู้ว่าทุกฝ่ายคงจะทำหน้าที่กันเต็มที่แล้ว แต่ประเด็นก็คือถ้าเตียงมีไม่เพียงพอจริงๆหรือมีปัญหาที่ตรงจุดไหนก็ควรจะบอกให้ประชาชนได้รู้ และควรให้คำแนะนำกับประชาชนทุกภาคส่วนว่าถ้าต้องรอเตียงเป็นเวลาหลายวัน เขาและครอบครัวจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร? คนในครอบครัวต้องย้ายออกหรือไม่? ต้องแจ้งประธานชุมชนหรือฝ่ายนิติบุคลหรือไม่ในกรณีที่อยู่คอนโดฯ? และผู้นำชุมชนต่างๆควรปฏิบัติเช่นไรในกรณีถ้ามีผู้ป่วยติดเชื้อแล้วยังอาศัยอยู่ในบ้าน?
“อย่าลืมนะว่าหลายๆครั้งอันตรายจากการตกเป็นจำเลยของสังคมมันมากกว่าอันตรายจากเชื้อโรคซะอีก” นายสุรชาติ ระบุ.