ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เผย แก้ รธน. ปมบัญชีรายชื่อนายกฯ ชงหยิบ ส.ส.เป็นผู้นำประเทศได้ จ่อ กลับไปใช้กระบวนถอดถอน ป.ป.ช.แบบเดิม ร้อง “องค์กรอิสระ” แล้วส่งต่อ “ปธ.ศาลฎีกา” ตัดสิน
วันนี้ (6 เม.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปพรรค กล่าวถึงความคืบหน้าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้พรรคได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว โดยแก้ไขทั้งสิ้น 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1. การแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องทำได้ง่ายขึ้น โดยให้ใช้เสียงเพียง 3 ใน 5 ซึ่งหลักการนี้ผ่านการเห็นชอบ ของรัฐสภาในตอนที่ได้มีการในการพิจารณาหมดแล้ว 2. การแก้ไขมาตรา 272 กำหนดให้ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 88 และมาตราเกี่ยวกับการส่งบัญชีรายชื่อ 3 นายกรัฐมนตรี เราจะแก้ไขว่า หากนายกฯที่อยู่ในบัญชี 3 คนนั้น ไม่สามารถที่จะเสนอได้ ก็ให้สภาเสนอชื่อ ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยึดโยงให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการประชาชน
นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า 3. การกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีการแก้ไข 7 มาตรา โดยนำรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มาปรับปรุง ประเด็นที่สำคัญคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับจะต้องมีการเลือกตั้งโดยตรง การบริหารทรัพยากรของท้องถิ่น ต้องเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นโดยตรง มีการเสนอเข้าชื่อและถอดถอน เพื่อให้มีข้อจำกัดและให้ประชาชนสามารถ ที่จะเข้าไปดำเนินการเสนอกฎหมาย บทบัญญัติของท้องถิ่นนี้ได้โดยตรง 4. แก้ไขการตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเชิญบุคคลมาชี้แจง จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปี 40 รัฐธรรมนูญปี 50
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า 5. การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจและถอนถอดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ให้เสนอผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งการเสนอเช่นนี้ทำให้การตรวจสอบต้องมายึดโยงกับเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจจะไม่สุจริต โปร่งใสได้ ดังนั้น เราจึงเห็นว่าควรต้องกลับไปใช้กลไกแบบเดิม กล่าวคือเสนอผ่านองค์กรอิสระ และส่งให้ประธานศาลฎีกา และ6.ระบบการเลือกตั้ง จะมีการแก้ไข 4 มาตรา โดยจะกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 เขต เลือกแบบ 1 บัตร 1 คน และมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งขณะนี้กำลังหารือถึงวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าควรจะเป็นแบบใด จะใช้ระบบสัดส่วนร้อยละโดยตรงเหมือนเดิมหรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีการพูดถึงระบบการตรวจสอบคนที่เข้ามาในระบบการเมืองต้องโปร่งใส ประวัติดีงาม
นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า ทุกฝ่ายที่ร่วมกันยกร่างมีความมั่นใจว่าร่างแก้ไขจะผ่านไปได้ด้วยดี เพราะเราไม่ได้เสนอแก้ทั้งฉบับ ทำให้ตัดปัญหาเรื่องการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขรายมาตราสามารถแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันมากกว่าการเสนอแก้ไขทั้งฉบับ รวมทั้งถ้าเสนอแก้ไขทั้งฉบับต้องไปทำประชามติ 2-3 ครั้ง แต่เมื่อมีการเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา จะทำประชามติเพียง 1 ครั้ง ทั้งนี้ ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเราควรจะถอนฟืนออกจากไฟ ที่สำคัญ หากได้แก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็นที่ทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น บ้านเมืองก็จะไม่กลับไปสู่จุดเดิม ดังนั้น มั่นใจว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้คงจะได้รับความร่วมมือและมีความเป็นไปได้ เพียงแต่ขอร้องทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจ