xs
xsm
sm
md
lg

พรรคกล้า นำ SMEs ร้องนายกฯ ช่วยถูก สสว.ฟ้อง หลังร่วมโครงการลงทุนแต่ถูกทวงหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วรวุฒิ” รองหัวหน้าพรรคกล้า นำผู้ประกอบการ SMEs ส่งหนังสือร้องนายกฯ ช่วยเหลือ ถูก สสว.ฟ้องร้องหลังเข้าร่วมโครงการลงทุน แต่ถูกทวงหนี้ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข

วันนี้ (5 เม.ย.) นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า นำตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กว่า 40 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมโครงการ “5,000 ล้าน หุ้นส่วนใหม่ธุรกิจไทย” ของสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ สสว. ผ่านนายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี โดยโครงการเริ่มตั้งแต่ปี 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทย ผ่านการระดมทุนที่ปลอดภาระดอกเบี้ยจ่าย พร้อมระบบที่ปรึกษาให้คําแนะนําพัฒนาธุรกิจให้เติบโตจนสามารถเข้าจดทะเบียนและระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ แต่ภายหลังอันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ทำให้ไม่มีบริษัทใดพัฒนาจนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ขณะที่ สสว.ทยอยฟ้องบริษัทที่เข้าร่วมสัญญา โดยเรียกค่าเสียหายพร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 15 ทั้งที่บริษัทเหล่านี้เข้าใจว่าเป็นการลงทุนลักษณะหุ้นส่วนแบ่งปันผลประโยชน์ ได้รับความเสี่ยงร่วมกันตามเงื่อนไขในโบรชัวร์ แต่กลับโดนฟ้องเหมือนกับการกู้เงิน

รองหัวหน้าพรรคกล้ากล่าวว่า แนวทางที่ดีที่สุด คือ ควรตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษ เปิดให้มีการทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ และ สสว. ชะลอการใช้มาตรการฟ้องร้องทางกฎหมายไว้ ส่วนระยะยาว เสนอให้ตั้งสภาเอสเอ็มอี เพื่อเป็นหน่วยงานกลางประสานความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกํากับดูแลการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสนับสนุนการประกอบกิจการของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป

“ในรายละเอียดเป็นสัญญาการร่วมทุน แต่พอผ่านระยะเวลามา 10 ปี ผู้ประกอบการกลับถูกฟ้องร้องในฐานะการกู้เงิน เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเดือดร้อน เนื่องจากดอกเบี้ยท่วมเงินต้นไป 2-3 เท่า หากสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการฟ้องร้อง รัฐเองก็จะไม่ได้เงิน เพราะผู้ประกอบการก็จะถูกฟ้องล้มละลายไป ส่วนผู้ประกอบการเองสิ้นเนื้อประดาตัวเช่นกัน ดังนั้น รัฐกับผู้ประกอบการควรหาทางเจรจากัน พร้อมย้ำว่าผู้ประกอบการที่มาวันนี้ทุกรายอยากจะชำระเงิน ไม่มีใครอยากเบี้ยวหนี้ แต่อยากมีให้พูดคุยเงื่อนไขการชำระเงินให้ถูกต้อง” นายวรวุฒิกล่าว

นายเสกสกลกล่าวว่า จะให้เจ้าหน้าที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีจะทำรายงานส่งถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบ พร้อมจะเชิญผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ตัวแทนบอร์ด สสว.มาประชุมหารือหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ คาดว่าจะนัดประชุมได้หลังช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ แล้วเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันก็จะนำรายงานต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน สสว.เพื่อดำเนินการแก้ปัญหา






กำลังโหลดความคิดเห็น