xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” เฮ! ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งให้จ่าย 3.5 หมื่นล้าน ชดเชยจำนำข้าว ชี้ทุจริตในระดับปฏิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ชดใช้ค่าเสียหาย 3.5 หมื่นล้าน จากกรณีการทุจริตโครงการระบายข้าวและจำนำข้าว ชี้ไม่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญา และความเสียหายเกิดขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ จนท.ไม่ได้สอบสวนเพื่อชี้ชัดใครต้องรับผิดชอบ

วันนี้ (2 เม.ย.) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 59 ที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท และเพิกถอนคำสั่ง ประกาศ หรือการดำเนินการใด ๆ ของกรมบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร ที่ยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาด รวมทั้งคำสั่งกระทรวงการคลัง ตามหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ กค 0206/ล 2174 ลงวันที่ 30 ส.ค. 62 ที่ยกคำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของร่วมของนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามีของน.ส.ยิ่งลักษณ์

คดีนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายอนุสรณ์ ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี รมว.คลัง รมช.คลัง ปลัดกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กรมบังคับคดี อธิบดีกรมบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-9 กรณีขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งชดใช้ดังกล่าวจากเหตุถูกกล่าวหาว่า ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่ เป็นเหตุทำให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย

ส่วนเหตุผลที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งชดใช้ดังกล่าว ระบุว่า การดำเนินการตามนโยบายจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ต้องดำเนินการตามมติครม.และนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ลำพังน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้ สำหรับขั้นตอนการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะประธาน กขช. ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อวางกรอบนโยบายในคราวการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2554และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามมติของที่ประชุม จำนวน 12 คณะ แต่ละคณะที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นจะมีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวมีรมช.พาณิชย์ เป็นประธาน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G TO G)ครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.54 เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ขณะนั้น มีอำนาจและหน้าที่ในการอนุมัติพิจารณา จัดการ ดำเนินการและตรวจสอบ และครม.ได้พิจารณาเห็นชอบให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการเจรจาการซื้อขายข้าวตามโครงการรับจำนำของรัฐบาลและเห็นชอบให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศนำผลการเจรจาต่อรองสุดท้ายเสนอประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขายในนามของรัฐบาลไทย

“น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไประดับมหภาคของโครงการรับจำนำข้าว มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ไม่อาจที่จะรับรู้รับทราบข้อมูล การปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กระทำผิดในระดับปฏิบัติ อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติในฐานะเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่างๆ ในการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และไม่ได้เป็นคณะอนุกรรมการตามที่ กขช. แต่งตั้งแต่อย่างใด”

เมื่อมีการกระทำการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มีคำสั่งคณะกรรมการด้านนโยบายข้าว ที่ 1/2556 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือของ อ.ค.ส. และ อ.ต.ก. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประมูลข้าวคงเหลือของโรงสี โกดังกลางที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวและมีการประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการอื่น ๆ อีกหลายครั้ง มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตหรือผู้กระทำผิดควบคู่กับการใช้มาตรการทางปกครองตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว กรณีจึงถือได้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ มิได้เพิกเฉยละเลย แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์เพื่อป้องกันยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว

ส่วนกรณีที่ สตง. มีหนังสือ 3 ฉบับแจ้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเพียงข้อเสนอแนะนำให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป ส่วนหนังสือที่ขอให้พิจารณาทบทวนและยุติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลต่อไปก็ออกมาภายหลังจากมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นเพียงรักษาการนายกและหนังสือดังกล่าวไม่ปรากฎในคำสั่งพิพาทเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายด้วย

สำหรับหนังสือสำนักงาน ปปช. ถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ลงวันที่ 30 เม.ย. 55 ก่อนที่จะเปิดโครงการรับจำนำข้าวสองวัน ก็มีลักษณะเป็นเพียงคำแนะนำเพื่อให้ป้องกัน การทุจริตในการแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับหนังสือจาก 2 หน่วยงาน ก็ได้สั่งการตามอำนาจหน้าที่โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาป้องกันดูแลการทุจริตตามอำนาจหน้าที่แล้วในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลเชิงนโยบาย ไม่ถึงขนาดต้องติดตามหนังสือสั่งการทุกฉบับและตรวจสอบการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานทุกหน่วยงานดังกล่าวด้วยตนเองทุกกรณี ไม่อาจรับฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเว้น เพิกเฉย ละเลย ไม่ติดตามหรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการตรวจสอบ

“การที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด เห็นว่า มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคนในมูลละเมิดกรณีโครงการรับจำนำข้าว ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ฯ ที่จะต้องดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนต้องชดใช้ เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่อื่นที่มีส่วนต้องรับผิดในมูลละเมิดเดียวกันกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดตามสัดส่วนเฉพาะในส่วนของตน แล้วจึงนำจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ต้องรับผิดมากำหนดสัดส่วนความรับผิดของแต่ละคน มิใช่พิจารณาเพียงเสนอความเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้เดียวเป็นผู้กระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏในคำให้การของกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 5 มิ.ย.63 ว่า ไม่มีหลักฐานแน่ชัดในชั้นการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้สั่งการทำให้เกิดความเสียหายหรือเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำละเมิด..การกำหนดสัดส่วนให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดจำนวน 35,717,273,028.23 บาท จึงไม่เป็นไปตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่2539 ประกอบกับข้อ 8-11และข้อ17 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 และไม่เป็นไปตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.2/ว 66 ลงวันที่ 25 ก.ย. 50”

นอกจากนี้ยังเห็นว่า คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวไม่มีอำนาจหน้าที่ในการประเมินความคุ้มค่าในการปฏิบัติตามโครงการรับจำนำข้าว และไม่อาจพิจารณาเพียงจากผลกำไรขาดทุนทางบัญชี จากการซื้อและขายข้าวตามข้อมูลของคณะอนุกรรมการ ฯ โดยต้องคิดคำนวณการหักค่าข้าวเสื่อมคุณภาพ ข้าวคงเหลือในคลังสินค้า การระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการระบายข้าวอยู่เป็นจำนวนมากให้ได้ข้อยุติก่อน การที่นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มีคำสั่งให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะในส่วนการกระทำของตนในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหาย คิดเป็นเงินจำนวนดังกล่าว จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกอบกับการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวดำเนินการในรูปแบบของกรรมการซึ่งต้องอาศัยมติที่ประชุมเสียงข้างมาก แม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะอยู่ในฐานะประธานกขช. แต่ก็ไม่มีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ ยับยั้ง อนุมัติ เห็นชอบ หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของตนได้

ส่วนที่นำประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางในนายกรัฐมนตรี ในสภาผู้แทนราษฎรว่าการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐมีการทุจริตเกิดขึ้น มาประกอบการเป็นเหตุผลให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้น เห็นว่าการอภิปรายและการลงมติไม่ไว้วางใจเป็นกระบวนการควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐ เป็นการคานอำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นฝ่ายค้านตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ขณะนั้น ได้รับมอบหมายจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ตอบกระทู้ สรุปความได้ว่า...ได้มีการอนุมัติให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบลงพื้นที่ตรวจสอบทั้งหมด 10 จังหวัด และในโครงการนี้ที่ผ่านมา ดีเอสไอ ก็รับเรื่องของโครงการทุจริตที่จ.กาญจนบุรีไปเป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ จงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ จนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 พ.ร.บ.ละเมิดฯ คำสั่งกระทรวงการคลังที่1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 59 ที่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพ 6จึงไม่มีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองยึด อายัดทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และของนายอนุสรณ์ ที่อ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์รวมกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด

สำหรับกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฟ้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดชดใช้ค่าเสียหายให้กับตนเอง 50 ล้านบาทจากกรณีดังกล่าว เห็นว่า การตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงคลัง เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ไม่ปรากฏว่ามีเจตนากลั่นแกล้งให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิด จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดที่ทั้ง 2 หน่วยงานต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้น.ส.ยิ่งลักษณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น