xs
xsm
sm
md
lg

“ณฐพร” ยื่นป.ป.ช.เอาผิด 208 สมาชิกรัฐสภาโหวตวาระ 3 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ณฐพร” ยื่นป.ป.ช.เอาผิด 208 สมาชิกรัฐสภาโหวตวาระ 3 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรธน. พร้อมเล็งเอาผิดพรรคการเมือง

วันนี้ ( 23 มี.ค.) นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องต่อป.ป.ช.ขอให้ดำเนินการกับ 208 สมาชิกรัฐสภา ที่ลงมติเห็นชอบ วาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการกระทำที่จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็มีผลผูกพันทุกองค์กร จึงขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีความเห็นส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234

นายณฐพร กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมามีความชัดเจนอยู่แล้วว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะทำไม่ได้แต่หากจะทำก็ต้องไปขอประชามติจากประชาชนก่อน และการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15/1 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับโดยจะมีผลให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องถูกยกเลิกไปด้วยซึ่งก็จะกระทบกับโครงสร้างทางการเมืองการปกครองและยังส่งผลให้คดีความต่างๆโดยเฉพาะคดีความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกศาลลงโทษไปแล้วหรืออยู่ระหว่างการดำเนินคดีต้องหลุดพ้นไปด้วยเหตุเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไป

นายณฐพร ยังเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการหาทางออกให้ประเทศ เพราะเดิมการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ แต่คำวินิจฉัยก็ออกมาบอกว่าแก้ไขได้ แต่ต้องไปทำประชามติถามประชาชนว่ายินยอมหรือไม่ ถ้ายินยอมก็แก้ไขได้

“คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจน และอีกประเด็นที่ชัดเจนคือ ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภา เหมือนการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ท่านเขียนไว้ชัดเจน เมื่อไปยกเลิก ท่านไม่ได้เขียนว่าผลอะไรเกิดขึ้น แต่ผลเนี่ยทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 9 ฉบับตกไป เช่น พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. / พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมันตกไป ทำให้คดีต่างๆ คดีทางการเมืองหมดสิ้นไปด้วย ซึ่งก็เป็นการนิรโทษกรรมอย่างหนึ่ง เป็นการแยบยลในการใช้กฎหมาย จึงเห็นว่ากรณีนี้น่าจะผิด มาตรา 49 และ มาตรา 92 พรป.พรรคการเมือง ซึ่งต้องรอให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาเสร็จก่อนซึ่งก็น่าจะมีผลกระทบต่อ พรรคการเมือง ที่ดำเนินการ”

ส่วนที่ฝ่ายการเมืองอ้างว่าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา นั้น นายณฐพรเห็นว่าการแก้มาตรา 256/1 เป็นการแก้แล้วไปตั้ง ส.ส.ร.ก็เหมือนการยกเลิกรัฐธรรมฯญปี 2560 ซึ่งศาลระบุไว้ชัดเจน การแก้รายมาตรา ศาลก็ระบุว่าแก้มาตราไหน ยกเลิกข้อความอะไร ยกเลิกเสร็จต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจะยกเลิกอย่างไรและเขียนแก้ไขอย่างไร ก็คือการแก้ไขรายมาตรา แต่การที่ว่าไปแก้ให้มี ส.ส.ร. ไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีอะไรกำหนดไว้ว่าจะทำอะไรได้ อาจจะไม่เขียนมาตรา 1 หรือ 2 หรือมาตราไหนก็ได้ เพราะเป็นสิทธิของ ส.ส.ร. ที่จะทำ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้กระทบต่อโครงสร้างของประเทศ กระทบต่อการบริหารงาน รัฐบาล กระทบต่อทุกภาคส่วน แต่เรามองไม่เห็นกัน ว่าการแก้แบบนี้ก่อให้เกิดผลอะไรอย่างไรตามมา












กำลังโหลดความคิดเห็น