xs
xsm
sm
md
lg

"Kick Off" ขับความเร็วไม่เกิน120 กม./ชม.” “ศักดิ์สยาม” ย้ำสะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย” นับเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้รถใช้ถนน รวมถึงระบบการขนส่งอื่นๆ ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เช่นเดียวกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ภายใต้การบริหารงานของ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นภารกิจที่สอดรับกับปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จึงได้กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดฯ พร้อมทั้งกำหนดนโยบายต่างๆ และแปรไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ นโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของยานพาหนะที่กำหนด บนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป โดยใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตร (กม.)/ชั่วโมง (ชม.) สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 เรียกได้ว่า เป็นอีกข่าวดีของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ที่จะได้รับความสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยอย่างสูงสุด

ต้องบอกว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้น ไม่ใช่แค่เกิดขึ้น ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้ดำเนินการกับประเทศอื่นๆ ในโลกแล้วด้วย ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ทั่วโลก อาทิ เมืองออโตบาห์น ประเทศเยอรมัน โดยจากข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จะไม่ทำให้ยอดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนมักจะเกิดจากความประมาท หรือการขับขี่ขณะเมาสุรา แต่ไม่ใช่เรื่องความเร็วของยานพาหนะ อย่างไรก็ตามทั้งหมดทั้งมวล ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการขนส่งและจราจรของประเทศ สามารถแก้ไขปัญหาจราจรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

ต่อนโยบายดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ออกมาระบุยืนยันว่า ในวันที่ 1 เม.ย. 2564 กระทรวงคมนาคม เตรียมนำร่องทดลอง (Kick Off) ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ตามที่กฎกระทรวงฯ กำหนด ในเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง กม. ที่ 4+100-50+000 ระยะทางประมาณ 50 กม. โดยการดำเนินการดังกล่าวนั้น เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

ในส่วนของระยะต่อไป (เฟส 2) เบื้องต้นได้ประเมินถนนที่มีกายภาพเหมาะสม สามารถดำเนินการได้ ระยะทางประมาณ 240 กม. แบ่งเป็น ถนนของกรมทางหลวง (ทล.) ระยะทางประมาณ 150 กม. และถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระยะทางประมาณ 90 กม. ได้แก่ ถนนราชพฤกษ์ และถนนชัยพฤกษ์ โดยคาดว่า จะเปิดให้ใช้อัตราความเร็ว 120 กม./ชม. ได้ภายหลังจาก Kick Off ไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน และจะทยอยประกาศเพิ่มในอนาคตต่อไป ในเส้นทางตามที่แขวง ทล. แขวง ทช. ได้สรุปรายงานมาให้พิจารณา โดยทั่วประเทศมีระยะทางกว่า 12,000 กม. ที่มี 4 ช่องจราจร มีเกาะกลางถนน และไม่มีจุดกลับรถ หรือจุดตัดเสมอเส้นทาง

ในส่วนของเส้นทางที่มีศักยภาพสามารถนำมาประกาสเพิ่มเติมทั้งในส่วนของ ทล. และ ทช. ที่ได้กำหนดแผนงานสำรวจ ปรับปรุงลักษระทางกายภาพ ติดตั้งป้ายกำกับความเร็ว แบ่งเป็นเส้นทางหลวงแผ่นดินที่มีศักยภาพ ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 จังหวัดสมุทรสงคราม ,ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดชัยนาท และจังหวัดนครสวรรค์ ,ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 จังหวัดนครราชสีมา ,ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 จังหวัดปทุมธานี และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ขณะที่ เส้นทางทางหลวงชนบทที่มีศักยภาพ ได้แก่ ถนนราชพฤกษ์ (นบ.3021) ,ถนนนครอินทร์ (นบ.1020) ,ถนนข้าวหลาม จังหวัดชลบุรี (ชบ.1073) ,จังหวัดระยอง (รย.1035) และถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี (ชม.3024) เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อความประสิทธิภาพในการดำเนินการ “นายศักดิ์สยาม” ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการวิเคราะห์และสรุปรายละเอียด เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ที่ในขณะนี้มีเงินในกองทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อขอนำงบประมาณมาใช้ดำเนินการ เช่น ติดตั้งป้ายกำกับความเร็วข้างทาง สัญลักษณ์กำกับความเร็วบนพื้นถนน ติดตั้งระบบป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ (VMS) รวมถึงจะมีการตีเส้นจราจรที่ตีขวางบนถนนเป็นแถบๆ (Rumble Strips) เพื่อแจ้งเตือนการเข้าเขตใช้ความเร็ว พร้อมทั้งติดตั้งแบริเออร์เพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ ให้ไปพิจารณากองทุนอื่นในต่างประเทศ เพื่อมาสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวด้วย

“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับนโยบายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี สืบเนื่องจากเพื่อให้การดำเนินการนี้ เป็นประโยชน์ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม โดย “นายศักดิ์สยาม” ได้มอบหมายให้ ทล. และ ทช. ไปสำรวจเส้นทางที่กำหนดให้ใช้ความเร็วในอัตราดังกล่าว เพื่อสร้างสะพานลอย เพื่อให้ประชาชนเดินข้าม รวมถึงรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซต์) และรถจักรยาน ในส่วนของรถยนต์ให้ใช้สะพานกลับรถ หรือกลับรถบริเวณสี่แยก โดยพิจารณาจากแนวทางการดำเนินการของต่างประเทศ ที่จะมีจุดกลับรถในทุกๆ 10 กม. เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ และผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมกันนี้ จะต้องไปบูรณาการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องของป้ายจราจร และบทลงโทษตามกฎหมาย อีกทั้ง ได้เตรียมว่าจ้างสถาบันการศึกษา เพื่อประเมินผลการดำเนินการด้วย

มาดูกันหน่อยว่า การใช้ความเร็วตามกฎกระทรวงดังกล่าว ในแต่ละยานพาหนะมีรายละเอียดอย่างไร มาดูกัน กล่าวคือ อัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทไว้ดังนี้ 1.รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถโดยสารมีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม., รถขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กม./ชม., รถจักรยานยนต์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. เว้นแต่รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กม./ชม.

ขณะที่ รถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม., รถโดยสารที่มีที่นั่งโดยสารเกิน 7 คนแต่ไม่เกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม., รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรม ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กม./ชม. และรถอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ทั้งนี้ หากรถอยู่ในช่องเดินรถขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้น มีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น

อีกทั้ง หากในทางเดินรถมีเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตราย หรือเขตให้ขับรถช้าๆ ให้ลดความเร็วลง และเพิ่มความระมัดระวังขึ้นตามสมควร และในกรณีที่ทางเดินรถ หรือช่องเดินรถใด มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วต่ำกว่าอัตราที่กำหนด ให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้

... เรียกได้ว่า นโยบายข้างต้น ถือเป็นอีก 1 นโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ “นายศักดิ์สยาม” ได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง และได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แต่อยากจะขอย้ำว่า ถึงแม้รัฐจะกำหนดให้สามารถใช้ความเร็วได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนน และมีความระมัดระวังในการเดินทางด้วย ...






กำลังโหลดความคิดเห็น