“เชาว์” แนะ ส.ส.- ส.ว.โหวตวาระสาม ร่างแก้ รธน.ฟ้องกลับ “ศรีสุวรรณ-ณัฐพร” หลังขู่เอาผิด ชี้ คุกคามการทำหน้าที่ตัวแทนปวงชนชาวไทย กางข้อเท็จจริง ปมแก้ รธน.ที่มา ส.ว. ยุคยิ่งลักษณ์ ตราไม่ชอบด้วยกฎหมาย มี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน เนื้อหาเข้าข่ายล้มการปกครอง ส่วนร่างแก้ไข รธน.ปัจจุบัน ตราโดยชอบลงมติโดยสุจริต แม้ ศาล รธน.ตีความ 15/1 มีผลล้ม รธน. แต่ไม่ได้บอกเป็นการยกร่างใหม่ ยังทำประชามติหลังผ่านวาระสาม ก่อนตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างใหม่ได้
วันนี้ (20 มี.ค.) นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Ghao Meekhuad เรื่อง โหวตวาระ 3 ร่างแก้ไข รธน.ทำได้ไม่ผิดกฎหมาย ระวังคนขู่ฟ้องจะถูกฟ้องเสียเอง มีเนื้อหาระบุว่า กรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และ นายณัฐพร โตประยูร เตรียมยื่นคำร้องกล่าวหา ส.ส. และ ส.ว. ที่ร่วมลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการเอาผิดกับ ส.ส.และ ส.ว. ทั้ง 208 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235
จนหลายคนสับสนว่า ทำไม่เอะอะไรก็ฟ้องศาล แม้กระทั่งการใช้สิทธิของ ส.ส.- ส.ว.ในการโหวตว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับญัตติในสภาซึ่งเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าฝ่าฝืนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชน ลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
นายเชาว์ ระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ผมยังไม่เห็นว่ามีข้อความใดห้ามไม่ให้ลงมติในวาระที่สาม แม้จะมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขให้มีมาตรา 15/1 มีผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็เป็นเพียงชี้ขั้นตอนว่า เมื่อจะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องถามประชาชนก่อน โดยหากโหวตวาระ 3 ไปแล้วก็ต้องทำประชามติ ซึ่งตรงกับคำวินิจฉัยที่ต้องการให้ทำประชามติก่อนมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเรื่องนี้ยังมีความเห็นออกเป็น 2 แนวทาง บางส่วนก็ว่าโหวตไม่ได้ ความเห็นจึงยังไม่ยุติและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าห้ามโหวตวาระ 3 กระทั่งก่อนลงมติก็ยังมีการอภิปรายกันอยู่เลยว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าอย่างไรจะลงมติได้หรือไม่ ถึงขั้นสมาชิกบางท่านได้เสนอญัตติให้สภาส่งคำร้องกลับไปถามศาลรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง และที่สำคัญ การลงมติดังกล่าว ก็มิใช่เป็นการผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้เสียที่เดียว แต่เป็นมติเพื่อจะตั้ง ส.ส.ร.ไปดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกระบวนการก่อนการทำประชามติ ดังนั้น เมื่อมีการเสนอให้ลงมติวาระสามโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน และประธานในที่ประชุมได้ถามมติ ก็เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เป็นดุลพินิจที่ทุกคนต้องเคารพ จึงไม่เห็นว่าจะผิดกฏหมายตรงไหน เพราะการที่จะเอาผิดกับ ส.ส.- ส.ว.ตามรัฐธรรมนูนมาตรา 235 นั้น ต้องมีเจตนาโดยแจ้งชัดในเรื่องการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
“ผมจึงเห็นว่า กรณีนี้จะไปเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงต่างกันโดยสิ้นเชิง ในครั้งนี้กระบวนการตรารัฐธรรมนูญไม่มีขั้นตอนใดที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่พยายามแก้ไขที่มาของ ส.ว นั้นมีปัญหา ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน อีกทั้งเนื้อหายังเข้าข่ายล้มการปกครอง ผิดรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง กรณีจึงชัดเจนว่า ส.ส.ที่ลงมติในครั้งนั้นมีความผิด ทำให้มีการไปร้องต่อ ป.ป.ช. ผมจึงเห็นว่าทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ที่ลงมติ โหวตวาระ 3 ไม่ต้องบ้าจี้ไปกลัว นายศรีสุวรรณ และ นายณัฐพร ที่ขู่จะเอาผิด ตรงกันข้ามผมอยากให้ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ที่โหวตวาระ 3 รวมกัน ฟ้องกลับทั้ง 2 คน ข้อหาฐานรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแต่กลับแจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด และข้อหาข่มขู่ คุกคาม ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ของสมาชิกรัฐสภาที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของใคร เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง” นายเชาว์ ระบุทิ้งท้าย