xs
xsm
sm
md
lg

“พรรคกล้า” ยื่น สตง.ตรวจสอบ สทศ.จัดสอบ O-Net ป.6-ม.3 ไม่คุ้มค่า เด็กเรียนไม่เท่ากัน ประเมินผลการจัดการศึกษาไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พรรคกล้า” ยื่น สตง. ตรวจสอบ สทศ.จัดสอบ O-Net ป.6, ม.3 ไม่คุ้มค่า เด็กเรียนไม่เท่ากัน ประเมินผลการจัดการศึกษาไม่ได้ ชี้อดีต รมว.ศึกษาฯ เคยทักท้วงแล้ว แต่ สทศ.ยังดันทุรัง ตั้งข้อสังเกตมีผลประโยชน์ในการจัดสอบหรือไม่ ขอกระทรวงฯ ปรับแนวทางลดความเครียดเด็ก ตั้งคำถามงบปีละ 700 กว่าล้าน พัฒนาการศึกษาอะไรได้บ้าง

วันนี้ (19 มี.ค.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า พร้อมด้วยนายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคกล้า กล่องการศึกษา ยื่นหนังสือถึงนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ตรวจสอบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ใช้งบประมาณจัดสอบ O-Net ระดับชั้น ป.6 และ ม.3 ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการประเมินผลการจัดการศึกษาของ สทศ. รวมถึงไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพ ตามมาตรา 4 วรรคสิบ แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561

นายอรรถวิชช์กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเคยทำหนังสือถึง สทศ.ให้ยกเลิกสอบ O-Net ไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะการระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกสอง ทำให้การเรียนการสอนแต่ละโรงเรียนมีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน แต่ สทศ.ยังยืนยันที่จะจัดสอบ จนในที่สุดมีข้อสรุปให้เป็นสิทธิส่วนตัวของนักเรียนที่จะเข้าทดสอบตามความสมัครใจ ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ก็แก้ไขหลักเกณฑ์แล้วว่า ไม่จำเป็นต้องใช้คะแนนโอเน็ตประกอบการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ ม.1 และ ม.4

เลขาธิการพรรคกล้าย้ำว่า จากเหตุผลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าการสอบ O-Net ไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะผลสอบเด็กเอาไปใช้ประกอบสอบเข้าโรงเรียนรัฐชั้น ม.1 และ ม.4 ปีนี้ไม่ได้ อีกทั้งผลสอบไม่สามารถประเมินผลการศึกษาไทยได้ เพราะเด็กเลือกสอบโดยสมัครใจ บางคนสอบ บางคนไม่สอบ จึงไม่มีค่าเฉลี่ยที่แท้จริง แต่ สทศ. ยังคงจัดสอบ O-Net ระดับ ป.6 และ ม.3 เมื่อวันที่ 13-14 มีนาคม 64 ที่ผ่านมา จึงเห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และยังเป็นการผลักภาระให้เด็กนักเรียนต้องแบกรับความเครียด สอบมากเกินไปโดยไม่จำเป็น

“งบประมาณ 700 กว่าล้านบาท ที่ใช้อยู่ทุกๆ ปี นอกจากวัดผลว่าเด็กได้คะแนนมากน้อยแล้ว มีอะไรจะเป็นรูปธรรมในการพัฒนาการศึกษาไทยบ้าง” นายอรรถวิชช์กล่าว

นายอรรถวิชช์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แทนที่จะยกเลิกการสอบ O-Net ไปก่อน แต่กลับจัดสอบต่อไปโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่นักเรียนต้องแบกรับ ซึ่งอาจเป็นเพราะ สทศ.เคยชินกับการทำงานระบบราชการล้าหลังแบบนี้อยู่แล้ว จึงไม่ยกเลิกสอบ และผลักภาระให้นักเรียนแทน หรือหากเลวร้ายที่สุด อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นในการจัดสอบ เช่น การใช้งบประมาณจัดการบุคลากร สถานที่ โรงพิมพ์ รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินวิทยฐานะครูหรือไม่ จนเป็นเหตุทำให้ไม่สามารถยกเลิกสอบ O-Net ได้ จึงเป็นเหตุที่พรรคกล้าต้องยื่นหนังสือขอให้ สตง.ดำเนินการตรวจสอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น