มหากาพย์ “โฮปเวลล์” ถือเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่อดีต และยังคงกลายเป็นเผือกร้อนและประเด็นสำคัญของเจ้ากระทรวงคมนาคมในยุคต่อๆ มา เช่นเดียวกันกับยุคคมนาคม ยูไนเต็ด นำทัพโดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้เดินหน้าหาทาง “ปิดจ๊อบ” ให้จบ ตามแนวนโยบายตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันแรก 30 กรกฎาคม 2563 ที่ออกมาระบุว่า “ยุคผมจะไม่มีค่าโง่”
จวบจนล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พ.ย. 2545 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ โดยให้เหตุผลว่าแม้เป็นการออกระเบียบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง
จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มีผลต่อการที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะยื่นรื้อคดีใหม่ เนื่องจากหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานปฏิบัติตามมติอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์กว่า 24,000 ล้านบาท
โดยกระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้มอบหมายให้นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาลปกครองขอรื้อคดี โดยอ้างว่า พบว่าบริษัทโฮปเวลล์ เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ก็ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด และนำไปสู่การที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำร้องที่ขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุด นำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว ที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คือ ไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่
รวมทั้งการกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการคือตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม คดีค่าโง่โฮปเวลล์ดังกล่าว เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 อนุญาโตตุลาการให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท จากนั้น 13 มี.ค. 2557 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการจึงไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาท
งานนี้! ต้องยอมรับว่า จากการดำเนินการของ “ศักดิ์สยาม” มาตลอดระยะเวลามาถึงวันนี้ เกือบ 2 ปี ได้เกิดดอกออกผล ประสบความสำเร็จ และมีแนวโน้มที่ดีจากกรณีดังกล่าว ซึ่งหากเรียกง่ายๆ คือ เป็นฮีโร่ขี่ม้าขาว ที่ไม่ต้องไปเสียค่าโง่กว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินมูลค่ามหาศาลนี้ ถือเป็นภาษีของประชาชน สามารถนำไปพัฒนาประเทศได้หลายด้าน
ย้อนรอยมหากาพย์ “ค่าโง่โฮปเวลล์” สำหรับคดีดังกล่าว เริ่มต้นนั้นมาจากในช่วงปี 2533 มีการเปิดประมูลโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง และมีการเซ็นสัญญาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 โดยสัญญาสัมปทานมีอายุยาวนานถึง 30 ปี
เเต่ต่อมาการก่อสร้างล่าช้ากว่าเเผนที่กำหนด โดยบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้เหตุผลเนื่องจาก รฟท. ไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง ซึ่งนำไปสู่การล้มเลิกโครงการฯ ก่อนที่จะหยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงปี 2540-2541 ถือเป็นช่วงรอยต่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในยุคนั้น
ต่อมาบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคม และ รฟท. จากกรณีบอกเลิกสัญญาฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฟ้องร้อง และคาราคาซังมาถึงปัจจุบัน โดยเมื่อสืบหาเอกสาร พบว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2540 คือ ยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย (2) ได้เป็นรัฐบาล มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ครม.ในขณะนั้น
ได้มีมติอนุมัติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ บอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และไปก่อสร้างถนน Local Roads ตามแนวเส้นทางรถไฟจากรังสิต-หัวหมาก ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตรแทน วงเงิน 1,349 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนตามแผนระยะสั้นของกระทรวงคมนาคม
ขยายความสักหน่อย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2540 นายสุเทพ ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการ ครม. โดยอ้างอิงถึงมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 ที่เห็นชอบให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการสร้างทางรถไฟยกระดับ กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาข้อที่ 27 โดยคณะรัฐมนตรีขณะนั้นมีข้อสังเกตว่า ควรปรับลดขนาดโครงการให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ควรมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการจราจรเป็นหลัก
จากข้อมูลยังระบุอีกว่า ในยุคของรัฐบาล พล.อ.เชาวลิต ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญาสัมปทาน ซึ่งเมื่อคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์สูงสุดของทางราชการ ประกอบกับเพื่อให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐ และหรือทางราชการสามารถเข้าไปดำเนินการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามแผนรองรับในพื้นที่ที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ก่อสร้างค้างไว้ได้ทันท่วงที
ซึ่งจะเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณ ถนนวิภาวดีรังสิตให้เบาบางลงด้วย สมควรให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐมีหนังสือบอกเลิกสัญญาสัมปทาน แจ้งไปยังบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติไว้แล้วดังกล่าวข้างต้นต่อไป โดยเมื่อมีการแจ้งบอกเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาฝ่ายรัฐจะพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป
ต่อกรณีดังกล่าว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิ มนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีใจความว่า “ดีใจมากครับ หลังจากเพียรพยายามต่อสู้ทำงานแบบเงียบๆอย่างไม่ย่อท้อมานาน ตั้งแต่ปี 2562 วันนี้เป็นอีกวันที่ผมรู้สึกดีใจและเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับคดีโฮปเวลล์”
“แต่เรื่องนี้ยังไม่จบนะครับ แม้จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว แต่ในความเป็นจริง เราจะยังต้องเดินหน้าทำงานต่อ รายละเอียดของเรื่องนี้ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังนะครับ มหากาพย์การโกงครั้งมโหฬารที่ดำเนินมากว่าสามสิบปีกำลังจะปิดฉากลงในไม่นานนี้ครับ ผมจะพยายามต่อไปอย่างถึงที่สุดเพื่อเป็นของขวัญให้กับประเทศของเราครับ” นายพีระพันธุ์ ระบุ
ต้องมาติดตามกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้ว “มหากาพย์ค่าโง่โฮปเวลล์” จะลงเอยอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในเบื้องต้น ต้องขอยกเครดิต ให้กับกระทรวงคมนาคม ภายใต้การบริหารงานของ “ศักดิ์สยาม” ที่เป็นฮีโร่ในเรื่องดังกล่าว ช่วยเซฟเงินแผ่นดินได้มหาศาลถึง 2.4 หมื่นล้านบาท