ที่ปรึกษานายกฯ ฟันธงคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่น ล. ขาดอายุความแล้ว กาง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 75(4) เปิดช่องรื้อคดีใหม่ได้ หลังศาล รธน.ชี้มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ปมนับอายุความ ขัด รธน.
วันนี้ (18 มี.ค.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ขาดว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ปี 2545 เรื่องการนับระยะเวลาฟ้องคดีปกครองให้เริ่มตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544 ที่นำมาใช้อ้างอิงในคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า ทำให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ โดยคดีนี้ถือว่าขาดอายุความไปแล้ว เนื่องจากข้อพิพาทที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นเดือนมกราคม ปี 2541 นับจากวันที่ ครม.มีมติบอกเลิกสัญญากับบริษัท โฮปเวลล์ อย่างเป็นทางการ ซึ่งในขณะนั้นการนับอายุความคดีปกครอง ต้องใช้ตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่กำหนดอายุความคดีปกครองไว้แค่ 1 ปี เท่ากับคดีนี้ต้องหมดอายุความในปี 2542 แต่โฮปเวลล์ไปยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการในปี 2547 ถือว่ากรณีนี้หมดอายุความไปแล้ว ซึ่งเป็นข้อต่อสู้ของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย มาโดยตลอด แม้ว่าในภายหลังจะมีการแก้ไขมาตรา 51 เพิ่มอายุความจาก 1 ปี เป็น 5 ปี และไม่เกิน 10 ปี เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะไม่ได้เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะมีข้อพิพาท
“แม้ว่าจะนับอายุความตามกฎหมายมาตรา 51 ที่มีการแก้ไขใหม่ อายุความก็จบลงที่ปี 46 แต่โฮปเวลล์ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการปี 47 ถือว่าคดีขาดอายุความไปแล้ว และจะนำเรื่องอายุความ 10 ปี ที่กำหนดไว้ในมาตรา 51 มาใช้ไม่ได้ เนื่องจากต้องเป็นกรณีที่ไม่ทราบว่าเหตุพิพาทเกิดขึ้นเมื่อใด แต่กรณีนี้มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาชัดเจนในปี 2541 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เรื่องให้นับอายุความตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องไปใช้การนับอายุความตามมาตรา 51 ซึ่งถือว่าคดีนี้หมดอายุความไปแล้ว” นายพีระพันธุ์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างรอสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไปดำเนินการขอคัดถ่ายคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมาพิจารณาเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆ พร้อมกับประสานงานกับกระทรวงคมนาคมในการพิจารณาแนวทางเพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมาตรา 75(4) ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เปิดช่องให้ยื่นศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอรื้อคดีใหม่ได้ ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด และต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษา หรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยกรณีนี้อาจมีการใช้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเหตุแห่งการรื้อคดีตามกฎหมายมาตราดังกล่าว