นร. ม.6 ร้องศาลปกครองขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน สั่งเลื่อนสอบ TCAS เหตุวันสอบติดต่อกันหลายวิชาและไม่มั่นใจในมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 โฆษกเพื่อไทยจี้ ทปอ.และ สทศ.แสดงความรับผิดชอบ อย่าผลักภาระให้เด็กอย่างเดียว ล่าสุดรับไต่สวนแล้ว
วันนี้ (17 มี.ค.) นายภูมภัสส์ หิรัญวีวิชญ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ร.ร.สารวิทยา กับ น.ส.พรปวีณ์ พรทิพพิสุทธิ์ นร.ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ร.ร.พระมารดานิจจานุเคราะห์ และกลุ่มนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวม 6 คน พร้อมด้วย น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรค และนายวัฒนา เตียงกูล ทนายฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมายื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ประชุมใหญ่อธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) เและ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กรณีร่วมกันออกประกาศยืนยันให้มีการสอบรายวิชาที่ใช้ในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ประจำปี2564 ตามกำหนดการเดิม ในวันที่ 27 และ 29 มี.ค.นี้ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านการเตรียมความพร้อมของเด็กนักเรียนและการระบาดของโควิด-19 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน สั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยให้มีการชะลอการสอบ TCAS ออกไปก่อน 1 ถึง 2 สัปดาห์ หลังจากที่มีการสอบปลายภาคของนักเรียน ม.6 เสร็จสิ้นแล้ว
น.ส.พรปวีณ์ พรทิพพิสุทธิ์ หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ระบบการสอบคัดเลือกกลางเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของนักเรียนชั้น ม.6 นั้น ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้ที่จะเข้าสอบต้องเป็นผู้ที่อยู่ในชั้นเรียนจนจบการศึกษาชั้น ม.6 แต่เนื่องจากเมื่อปลายปี 2563 ถึงปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ต้องมีการปิดเรียนเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ทำให้โรงเรียนต่างๆ ต้องเลื่อนการสอบปลายภาคประจำปีการศึกษา 2563 ออกไป ดังนั้น ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดสอบ TCAS จึงควรเลื่อนการกำหนดการสอบที่กำหนดไว้ตั้งแต่ 30 ก.ค. 63 ออกไปก่อน เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.6 ได้สอบเสร็จและจบการศึกษาก่อน หลังจากนั้นเข้าสอบ TCAS ซึ่งในปีการศึกษาที่ผ่านมาจะมีการกำหนดช่วงเวลาการสอบ TCAS ห่างจากการสอบปลายภาคของนักเรียนชั้น ม.6 ประมาณ 2 สัปดาห์ การที่ไม่มีการเลื่อนสอบทำให้การสอบปลายภาคของนักเรียนและการสอบ TCAS ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน และบางโรงเรียนต้องมีการเริ่มสอบ TCAS ก่อนที่เด็กจะสอบปลายภาค กลุ่มตนเองจึงเห็นว่าการไม่เลื่อนสอบออกไป และให้มีการสอบตามกำหนดการเดิมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ และยังส่งผลกระทบต่อนักเรียนที่ต้องมีภาระในการสอบติดต่อกันหลายวัน ซึ่งตนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้
นายภูมภัสส์ หิรัญวีวิชญ์ กล่าวว่า จากที่พวกเรารวบรวมข้อมูลพบว่า มีโรงเรียนกว่า 150แห่ง ที่มีการจัดสอบปลายภาคชนกับตารางสอบTCAS ทำให้พวกเราต้องมาร้องศาลในวันนี้ เพราะ การที่เรายังไม่ได้สอบปลายภาค จบชั้น ม.6 แล้วต้องไปสอบ TCAS ทำให้พวกเราได้รับผลกระทบไปหมด ที่ผ่านมาพวกเรากลุ่มนักเรียนได้พยายามเสนอตารางสอบTCAS ใหม่ ที่ไม่ส่งผลกระทบกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เสนอต่อ ศธ., ทปอ., สทศ. แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ขณะที่ ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากดูจากตารางสอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปี 2564 พบว่ามีการจัดสอบติดต่อกันมากกว่า 30 วิชาในช่วงเวลา 22 วัน ทั้งการสอบ GAT PAT ONET TCAS และ 9 วิชาสามัญ ในระหว่างนั้นยังมีการสอบโควตาเข้าสาขาวิชาแพทย์ชนบท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับภูมิภาคอย่างภาคอีสานยังมีการสอบสมรรถนะของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้นเดือนเมษายนยังมีการสอบวิชาเฉพาะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น ในระหว่างนั้นโรงเรียนบางแห่งยังมีการจัดสอบปลายภาคด้วย
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบทั้งหมดยังมีความบกพร่องในการบริหารจัดการ ไม่มีการประกาศมาตรการป้องกันโรคอย่างชัดเจน ไม่แสดงตัวอย่างการป้องกันโรคเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เด็กนักเรียนได้เตรียมพร้อมก่อน ซึ่งการที่ ทปอ.ออกมาแจงถึงการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่าปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค. ส่วน สทศ.ประกาศมาตรการป้องกันไว้ในเว็บไซต์ของ สทศ.ไม่ตอบโจทย์และขาดความรู้ความเข้าใจในมุมของผู้เข้าสอบ ตนเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงและทำความเข้าใจกับมาตรการการป้องกันในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด และต้องแจ้งกำหนดเวลาในแต่ละมาตรการ เพราะผู้เข้าสอบจะรู้เพียงตารางสอบวิชาแรก คือ GAT ซึ่งเริ่มสอบตั้งแต่เวลา 08.30 น. แต่ไม่รู้ในรายละเอียดว่าจะต้องเข้าไปถึงสนามสอบก่อนเวลามากน้อยเพียงใด และมาตรการป้องกันโรคดำเนินการในส่วนใดของสนามสอบ ทั้งหมดถือเป็นการผลักภาระให้ผู้เข้าสอบไปเผชิญสถานการณ์หน้างานด้วยตัวเองโดยขาดความรับผิดชอบของผู้ใหญ่
ล่าสุด หลังตรวจสอบเอกสารคำร้องเป็นที่เรียบร้อย ศาลปกครองกลางได้ไต่สวนฉุกเฉินนักเรียนทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องในทันที โดยเริ่มไต่สวนเมื่อเวลา 16.30 น. เพื่อให้ชี้แจงถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นตามคำร้องที่ยื่นต่อศาล