ป.ป.ช.ยื่นศาลฎีกาแล้ววินิจฉัย “ปารีณา” ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายเเรง รุกที่ป่าสงวน ขอศาลสั่งหยุดปฎิบัติหน้าที่ และให้พ้นจากตำเเหน่ง ส.ส. พร้อมถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี
วันนี้ (16 มี.ค.) ที่ศาลฎีกาสนามหลวง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม
ภายหลังจาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลเรื่องดังกล่าว 9 เสียง เห็นชอบตามความเห็นชอบของคณะกรรมการไต่สวนว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงและกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งอันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 และข้อ 17 ประกอบข้อ 3 และข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ (ผู้คัดค้าน), สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงดังกล่าวต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87
โดยคำร้องระบุว่า สืบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งมีผลใช้บังคับกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 219 ด้วย โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2561 โดย ป.ป.ช.ผู้ร้องมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 324 (1) ที่กำหนดให้ผู้ร้องมีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235(1) ได้กำหนดให้ ถ้าเป็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย ผู้ร้องจึงมีหน้าที่และอำนาจดำเนินคดีกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย โดยมีอำนาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการในศาลแทนได้ ซึ่งในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 ข้อ 6 กำหนดให้นำสำนวนการไต่สวนของผู้ร้องเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่ง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ผู้คัดค้าน ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.ราชบุรี รวม 4 สมัย โดยผู้คัดค้านยังคงเป็น ส.ส.อยู่ในวันที่มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับและมีผลใช้บังคับกับผู้คัดค้านซึ่งดำรงตำแหน่ง ส.ส.ด้วย
โดยผู้คัดค้านซึ่งดำรงตำแหน่ง ส.ส.มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ การควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การตั้งกรรมาธิการ การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การให้ความเห็นขอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและต้องดำรงตนมิให้มีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ที่กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัดว่าประชาชนโดยทั่วไป เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีงามให้กันประชาชนตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรม
คดีนี้ปรากฏว่า ป.ป.ช.ผู้ร้องได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาว่า ผู้คัดค้าน ยึดถือครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 .และหรือ ส.ป.ก.โดยไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด อันส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่และหรือขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ประกอบกับผู้คัดค้านได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้อง กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 ว่า มีทรัพย์สินเป็นที่ดินประเภท ภ.ท.บ.จำนวน 29 แปลง อยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งผู้ร้องได้มีมติการประชุมครั้งที่ 35/2563 วันที่ 12 มี.ค. 2563 พิจารณาเรื่องรายงานผลการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้คัดค้าน กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.และกรณีมีเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบที่ดิน ภ.บ.ท 5 โดยเห็นว่าการที่ผู้คัดด้านได้รับโอนสิทธิเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน เพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ จำนวน 29 แปลง เนื้อที่ 853 ไร่ 75 ตารางวา ในขณะดำรงตำแหน่ง ส.ส.โดยที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นพื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 หมวด 1 ข้อ 7 และข้อ 8 หมวด 2 ข้อ 12 และข้อ 17 จึงมีมติให้ดำเนินการไต่สวนเรื่อง ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่าข้อกล่าวหามีมูล ผู้ร้องโดยคณะกรรมการไต่สวน จึงแจ้งให้ผู้คัดค้านไปรับทราบข้อกล่าวหาและให้โอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและนำสืบพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งผู้คัดค้านได้รับทราบข้อกล่าวหาพร้อมทั้งสิทธิในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามกฎหมายแล้วโดยชอบ และได้มีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการไต่สวนแล้ว คณะกรรมการไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน ตามที่มีการกล่าวหาและนำเสนอผู้ร้องพิจารณาข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐานแล้วมีมติว่าการกระทำของผู้คัดค้าน เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ผู้ร้องจึงมีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวและมีอำนาจเสนอเรื่องต่อศาลฎีกา เพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 234(1) และมาตรา 235(1) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28(1) และมาตรา 87
ทั้งนี้ ระหว่างที่ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่ง ส.ส.สมัยที่ 4 ผู้คัดค้านได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินและใช้ประโยชน์ เพื่อประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ในชื่อ เขาสนฟาร์ม และ เขาสนฟาร์ม 2 ต่อเนื่องตลอดมาก่อนที่จะดำรงตำแหน่ง ส.ส.สมัยที่ 4 ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรทำกิน ปรากฏตามบันทึกการตรวจยึดของกรมป่าไม้ ซึ่งผู้คัดด้านได้ยึดถือครอบครองปลูกสร้างอาคารและเข้าทำประโยชน์ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ เมื่อที่ดินดังกล่าวยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน และยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือออกเอกสารสิทธิให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) จึงยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2527 และยังเป็นที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงถือว่าเป็นที่ป่า ตามความในมาตรา 4(1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484
นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของผู้ร้องว่าการถือครองที่ดินดังกล่าวได้มีการกระจายการถือครองที่ดินโดยอาศัยชื่อบุคคลอื่นมาถือครองที่ดินในเอกสารการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.ม.ท.5) แทน และมีหลักฐานชัดเจนว่าภายหลัง เมื่อปี พ.ศ. 2555 ได้มีการโอนกลับไปเป็นชื่อของผู้คัดค้านทั้งหมดเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2555 และผู้คัดด้านได้เป็นผู้ยื่นชำระภาษีบำรุงท้องที่ทั้ง 29 แปลง ดังกล่าว มาตั้งแต่ที่ได้รันโอนสิทธิกลับคืนมา ทั้งนี้ ยังปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินการของผู้คัดด้านในเรื่องการขอใช้ไฟฟ้า การชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน การขออนุญาตประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์เขาสนฟาร์ม และขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อันเป็นการแสดงถึงเจตนาของผู้คัดค้านที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์จากที่ดินและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2561 ผู้คัดค้านได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2546 โดยการอาศัยชื่อคนงานและบุคคลอื่นในการครอบครองหรือถือครองที่ดินตนเอง ทั้งที่ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. 2562 สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดราชบุรีได้ปิดประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินราชบุรีให้เกษตรกรที่มีคุณสมบัติยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งผู้ครอบครองพื้นที่บริเวณใกล้เคียงได้ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีการประกาศให้เข้าทำประโยชน์ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านหรือบุคคล ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินของผู้คัดค้าน ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน
ซึ่งการที่ผู้คัดค้านยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่กลับไม่ดำเนินการตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน โดยการไม่ขอเข้าทำประโยชนให้ถูกต้อง ย่อมส่อให้เห็นถึงเจตนาของผู้คัดค้านที่จะหลีกเลี่ยงมิให้ที่ดินบริเวณที่ยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินตามเจตนารมณ์ของกฎหมายปฏิรูปที่ดิน และเพื่อเป็นการปิดโอกาสหรือหวงกันมิให้บุคคลอื่นเข้าใช้ประโยชนในที่ดินที่ตนยืดถือครอบครอง โดยมีเจตนายึดถือครอบครองที่ดินดังกล่าวเป็นของตนมาโดย หากมีการดำเนินการตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ผู้คัดค้านจะไม่มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว เพราะขาดคุณสมบัติในการเป็นเกษตรกร และไม่อาจถือครองที่ดินเกิน 50 ไร่ ซึ่งปรากฏว่า ผู้คัดค้านได้ใช้ประโยชน์ที่ดินและมีรายได้จากการใช้ประโยชน์ในที่ดิน จากประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวนประมาณ 109,962,076.14 บาท ซึ่งปรากฏตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้คัดค้านมีมูลค่ารวมกว่า 136 ล้านบาทเศษ จึงไม่มีคุณสมบัติ หรืออยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะมีสิทธิได้รับการอนุญาตและออกเอกสารสิทธิให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าว จึงเป็นการยึดถือครอบครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและยังถูกหน่วยงานของรัฐ ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดทางอาญาฐานบุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2498 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาอันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน สิ่งแวดล้อม หรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ ที่มีลักษณะขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะและมีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรงก่อให้เกิดความร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกบุกรุกทำลาย โดยคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงิน จำนวน 36,224,791 บาท
ทั้งนี้ ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่ง ส.ส. ต้องดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานจริยธรรม โดยจะต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม การกระทำดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง ส.ส. เป็นการกระทำที่ผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 หมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อ 11 ที่ต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมทั้งนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการที่ผู้คัดค้านในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยึดถือครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เหตุเกิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 2562-วันที่ 12 ธ.ค. 2562 ท้องที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
โดยท้ายคำร้อง ป.ป.ช.ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่ง 1. ให้ผู้คัดค้านหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีกาประทับรับฟ้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา 2. ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี
โดยภายหลัง ป.ป.ช.ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต่อ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อายุ 44 ปี ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีเข้ายึดถือครอบครองที่ดิน ภบท.5 หรือ ส.ป.ก. จำนวน 29 แปลง เนื้อที่ 853 ไร่ 75 ตร.วา ที่ ม.6 ต.รางบัง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี โดยมิชอบ ศาลฎีกา บันทึกคำร้องของ ป.ป.ช.ไว้ในสารบบคดีหมายเลขดำ คมจ.1/2564 โดยหลังจากนี้ ศาลจะดำเนินการตามแนวทางบริหารจัดการคดีเกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยศาลฎีกาจะกำหนดวันนัดฟังคำสั่งชั้นรับคำร้องว่าจะรับหรือไม่รับคดีนี้ต่อไป ภายใน 7 วันทำการนับจากวันที่รับคำร้องและเสนอสำนวนให้เลขานุการศาลฎีกาทราบแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยขั้นตอนนั้น หากองค์คณะพิจารณาพิพากษามีคำสั่งในชั้นรับคำร้องแล้วให้รับคำร้อง จึงจะส่งสำนวนคำร้องของ ป.ป.ช.ให้ผู้คัดค้านทราบ รวมทั้งทำหนังสือแจ้งคำสั่งรับคำร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และกำหนดวันนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบถามผู้คัดค้าน โดยจะต้องกำหนดวันนัดพิจารณาครั้งแรกนี้ให้คู่ความทราบไม่น้อยกว่า 5 วันก่อนจะมีการนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐาน จากนั้นจึงจะกำหนดนัดวันไต่สวน
โดยข้อ 12 วรรคสอง แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ. 2561 บัญญัติไว้ด้วยว่า เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องแล้วผู้คัดค้านจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ศาลแจ้งคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ