รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบในหลักการร่างประกาศ คกก.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลโควิด ส่งผล พนง.รัฐวิสาหกิจ 285,598 คน ได้รับการคุ้มครอง พร้อมอนุมัติบรรจุลูกจ้างประจำ สธ.เป็น ขรก.3,179 อัตรา
วันนี้ (16 มี.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ คือ กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการและค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด และกรณีที่ผลการตรวจยืนยันว่าไม่ติดเชื้อ แต่ยังมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินได้กำหนดให้รับสิทธิในการได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล โดยให้นำประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ค่าทำศพกรณีตาย อันไม่ใช่เนื่องจากการทำงานมาใช้บังคับ
นอกจากนี้ยังกำหนดสิทธิให้ได้รับค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง คู่สมรส หรือบุตร กรณีได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พร้อมกำหนดให้กรณีลูกจ้าง คู่สมรส หรือบุตร หรือญาติ ปฏิเสธการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการดูแลรักษายังสถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง กำหนดให้เมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดค่าใช้จ่ายกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย แจ้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้นายจ้างทราบแล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าใช้จ่ายตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้แก่สถานพยาบาลภายใน 15 วัน และกำหนดให้สถานพยาบาลมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายแทนลูกจ้าง และกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดมีข้อกำหนดให้สิทธิการรักษาพยาบาลแก่บิดา มารดาของลูกจ้าง ให้บิดามารดาของลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิตามประกาศนี้ด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับแล้วพบว่า ตามที่ได้ประมาณการรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีโควิด-19 ของแต่ละรัฐวิสาหกิจไว้ในปี 2564 จำนวน 6,230 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม และร่างประกาศฉบับนี้จะส่งผลให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดรวมกว่า 285,598 คน ได้รับการคุ้มครอง และทำให้สถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายโดยเร็วจากรัฐวิสาหกิจ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการบรรจุลูกจ้างประจำของกระทรวงสาธารณสุขในตำแหน่งอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งตามมติเดิมของครม.เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 เห็นชอบให้จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่รวม 38,105 อัตรา โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการคัดเลือกและบรรจุบุคคลเข้ารับราชการได้จำนวน 34,926 อัตรา คงเหลือ 3,179 อัตรา เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในอัตราข้าราชการตั้งใหม่ได้ครบ เช่น มีคุณสมบัติไม่ตรงตามตำแหน่งตามมาตรฐานที่กำหนด มีชื่อตำแหน่งที่ได้รับการจ้างงานอยู่เดิมไม่ตรงกับชื่อตำแหน่งในสายงานที่จะเข้ารับการคัดเลือกและบรรจุเข้ารับราชการ
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เสนอคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เพื่อขอนำอัตราที่คงเหลือไปบรรจุลูกจ้างประจำของกระทรวงสาธารณสุขในอัตราข้าราชการตั้งใหม่ เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม หากดำเนินการข้างต้นแล้วยังมีตำแหน่งว่างคงเหลือ อาจพิจารณาบรรจุบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ตามเหตุผลความจำเป็น โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับ และการป้องกันผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลัง ตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนดไว้เดิม
นอกจากนี้ยังให้กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงทำความเข้าใจกับบุคลากรที่จะได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการให้ทราบและเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างถูกต้อง และเมื่อได้ดำเนินการบรรจุบุคลากรครบถ้วนตามที่ได้รับจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่จำนวน 38,105 อัตราแล้ว ให้กระทรวงสาธารณสุขรายงานผลการดำเนินการตลอดจนแจ้งการยุบเลิกตำแหน่งที่จ้างงานด้วยรูปแบบอื่นให้ คปร.ทราบภายในเดือนมีนาคม 2564 ด้วย