xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ประชุม คนร.ย้ำเป้าพัฒนารัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน ขับเคลื่อนจีดีพีบรรลุร้อยละ 4

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ประชุมบอร์ด คนร. ย้ำ กำหนดเป้าหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน ร่วมขับเคลื่อนจีดีพีประเทศให้บรรลุเป้าหมายร้อยละ 4 ในปีนี้ กำชับการทำงานทุกอย่างต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (10 มี.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2564 ร่วมกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้ที่เกี่ยวข้อง

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายต่อที่ประชุม ว่า การทำงานของ คนร. ในปี 64 นี้ มีทั้งงานที่ต้องทำต่อเนื่องจากปี 63 งานที่ต้องทำใหม่ งานที่ต้องแก้ไขและฟื้นฟูให้กับรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดย คนร. ต้องพัฒนารัฐวิสาหกิจให้ได้ทั้งในวันนี้และในอนาคต เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องจักรหนึ่งที่สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการ คนร. ทุกคนคือทีมประเทศไทย นายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นหัวเรือ จะทำหน้าที่นำเรือฟันฝ่าอุปสรรคผ่านน้ำเชี่ยวในห้วงเวลานี้ให้ได้ ทั้งนี้ ในการทำงานจะต้องทำตามเป้าหมาย เจตนารมณ์ วัตถุประสงค์ให้ได้ นำเป้าหมายทุกเรื่องเป็นตัวกำหนดตั้งต้น แล้วจึงวางแผนการทำงานที่ตอบสนองเป้าหมายเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้สำเร็จ รวมทั้งต้องวางแผนเตรียมการกับสิ่งที่ต้องเผชิญระหว่างการทำงานในข้างหน้าด้วย และในวันนี้รัฐบาลเตรียมพร้อมเรื่องของรัฐวิสาหกิจ เร่งขับเคลื่อนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาโดยเร็ว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนจีดีพีประเทศในปี 64 ที่ร้อยละ 4 ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย โดยรัฐวิสาหกิจจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีประเทศ ดังนั้น จึงขอให้ได้มีการพิจารณาเรื่องการลงทุนใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้จีดีพีประเทศสูงขึ้นอย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และเป็น New Normal ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติคำนึงถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องตอบโจทย์ในเรื่องต่างๆ เช่น BCG Model อีอีซี และ 5G เป็นต้น ซึ่งรัฐวิสาหกิจหลายแห่งก็มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานในเรื่องเหล่านี้ รัฐวิสาหกิจจึงจะต้องนำนโยบายของรัฐบาลไปขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้น รวมทั้งต้องประสานการทำงานกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในวันนี้ต้องกำหนดเป้าหมายการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน โดยไม่เป็นเพียงเป้าหมายแบบเดิมๆ แต่เป็นเป้าหมายใหม่ที่เพิ่มจากเป้าหมายเดิม มีความสอดคล้องกับ New Normal และหลักเกณฑ์การประเมินผลต่างๆ ที่ได้กำหนดขึ้น จะต้องเกิดผลให้ยกระดับรัฐวิสาหกิจได้ ดังนั้น ต้องมีการวิเคราะห์ จำแนกรัฐวิสาหกิจตามศักยภาพขีดความสามารถเป็นสำคัญ รวมทั้งหาแนวทางพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น และหากลไกวิธีการใหม่เพื่ออุดหนุนรัฐวิสาหกิจที่ต้องดูแลประชาชนแต่มีกำไรน้อย เช่น ขสมก. โดยให้มีการเทียบเคียงกับต่างประเทศ รวมทั้งเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่ดี ให้ดีขึ้นได้โดยเร็ว

“นายกรัฐมนตรียังได้กำชับการทำงานของ คนร. ว่า ในการทำงานเพื่อรัฐวิสาหกิจ จะต้องระวังเรื่องการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ต้องช่วยกันทำให้ทุกอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยปัญหาของรัฐวิสาหกิจจะต้องได้รับการแก้ไขพัฒนาในวันนี้ เพราะรัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้” โฆษกรัฐบาลกล่าว

ทั้งนี้ คนร. มีมติเห็นชอบในหลักการของการจัดตั้งบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ 1. บริษัทในเครือของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) (บริษัท MEA Smart Energy Solutions จำกัด) เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการให้คำปรึกษาการออกแบบ ติดตั้ง บำรุงรักษา และลงทุนด้านการบริหารจัดการระบบพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และระบบพลังงานแบบอัจฉริยะ (Smart Energy) แบบครบวงจรเพื่อรองรับการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดย กฟน. จะถือหุ้น 100% ของบริษัทในเครือดังกล่าว 2. บริษัทในเครือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของ กฟผ. และกลุ่ม กฟผ. สู่เชิงพาณิชย์ และลงทุนในธุรกิจพลังงานเพื่ออนาคต (Future Energy) โดย กฟผ. จะถือหุ้น 40% ของบริษัทในเครือดังกล่าว และมีบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) (EGCO) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. ร่วมถือหุ้นด้วยแห่งละ 30%

พร้อมกับ คนร. เห็นชอบหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการดำเนินงานตามนโยบายและภารกิจตามยุทธศาสตร์ 2) ด้านผลการดำเนินงาน (การเงินและไม่ใช่การเงิน) และ 3) ด้านการบริหารจัดการองค์กรตาม Core Business Enablers ทั้ง 8 หัวข้อ และให้เริ่มใช้หลักเกณฑ์การประเมินผลดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป เพื่อกำกับติดตามและเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งยกระดับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เชื่อมโยงระหว่างความคาดหวังตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดกับความรับผิดชอบระดับองค์กรและระดับรายบุคคลของรัฐวิสาหกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น