ยังจะแถเอียงข้างอีกมั้ย? “อดีตรองอธิการ มธ.” โต้ “ปริญญา” หน้าหงาย จงใจอธิบายไม่หมด ปม “ศาลไม่ให้ประกัน” แกนนำ 3 นิ้ว “รุ้ง” อย่างกับนางเอก ออกแถลงการณ์ปลุกม็อบ ขอมวลชนอย่าทิ้งแนวทางต่อสู้ ให้มาเป็นล้าน!
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (10 มี.ค. 64) เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความตอบโต้กรณีก่อนหน้านี้ อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็น ชี้ประเด็นแกนนำม็อบ 3 นิ้ว ควรได้ประกันตัวตามกฎหมาย ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำ 3 นิ้วหลายคน ว่า
“ผู้สนับสนุนม็อบ 3 นิ้ว ต่างดาหน้ากันออกมาเรียกร้องให้ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำม็อบ 3 นิ้วที่ต้องคดี ตามมาตรา 112 และ 116 ด้วยเหตุผลว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลยทุกคน และตามหลักยุติธรรมสากล ต้องถือว่า ผู้ถูกจับกุมเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดจริง
ไม่น่าเชื่อว่า ผู้ที่ออกมาเรียกร้อง หลายคนก็เป็นนักกฎหมาย แต่กลับอ้างข้อมูลทางกฎหมายที่ไม่ครบถ้วน พูดเสมือนหนึ่งว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลย ตราบใดที่การพิจารณาคดียังไม่ถึงที่สุด ศาลจะต้องอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทุกรายไป การพูดเช่นนี้ แม้ไม่ได้พูดตรงๆ แบบผู้ที่อยู่ในม็อบ และใน social media แต่ก็มีนัยยะว่า ศาลไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยที่เป็นแกนนำเหล่านี้ ซึ่งทาง อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ก็โพสต์ facebook ความตอนหนึ่งว่า
“การได้รับการประกันตัวในคดีอาญา หรือที่กฎหมายใช้คำว่า ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น เป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาและจำเลยทุกคน ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติไว้ในมาตรา 107 ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ....”
อ.ปริญญา กลับไม่ได้ให้ข้อความในมาตรา 107 ให้ครบถ้วน เพราะในมาตรา 107 มีการระบุต่อจากนั้นอีกว่า “ ....พึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 มาตรา 108/1 ...” ในที่นี้จึงได้คัดลอกข้อความที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 มาตรา 108 และมาตรา 108/1 มาให้อ่านกันแบบไม่ตัดทอนดังนี้
มาตรา 107 เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็วและผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 108 มาตรา 108/1 มาตรา 109 มาตรา 110 มาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 113 และมาตรา 113/1 คำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวโดยทันที
มาตรา 108 ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบด้วย (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา (2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด (3) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร (4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด (5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ (6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่ (7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้
มาตรา 108/1 การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว
จะเห็นว่า ข้อความที่ว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” จึงไม่ใช่เป็นการอนุญาตให้ปล่อยตัวโดยอัตโนมัติ แต่ศาลจะต้องวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยตัวโดยพิจารณาเงื่อนไขตามมาตรา 108 การไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จะทำได้หากมีเหตุอันควรเชื่อ 5 ข้อ ตามมาตรา 108/1
สรุปสั้นๆ คือ การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นสิทธิที่พึงได้รับ แต่ศาลต้องวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตามเงื่อนไขตามมาตรา 108 และศาลอาจจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ได้หากมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งใน 5 เหตุ ตามมาตรา 108/1
ยังดีที่ อ.ปริญญา ระบุต่อมาในโพสต์ว่า “แม้ว่าศาลจะมีดุลพินิจสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ .....” แต่ก็ได้เปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาอีกประเด็น คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 29 บัญญัติว่า ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
ดังนั้น ตามข้อวินิจฉัยของ อ.ปริญญา การนำผู้ต้องหาหรือจำเลย ไปขังไว้ในที่เดียวกันกับนักโทษอื่นๆ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 29 เพราะเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำผิด ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด
อยากรู้ว่า หากในที่สุด แกนนำ กปปส. 8 คน ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อ.ปริญญา จะพยายามค้นคว้าหาข้อกฎหมาย และออกมาแสดงความเห็นแบบนี้เหมือนกันหรือไม่ รวมทั้งคดีอื่นๆ ที่ผ่านมาอีกกี่หมื่นคดีที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยเล่า ทำไมไม่เคยออกมาแสดงความเห็นแบบนี้บ้าง
ดูเหมือนจะเป็นวันเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ออกแถลงการณ์ ซึ่งผมหวังอย่างยิ่งว่า จะเป็นแถลงการณ์ปลอม เพราะแค่เห็นหัวเรื่องก็ไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสียแล้ว แถลงการณ์ฉบับนี้ใช้หัวเรื่องว่า “ขอให้คำนึงถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุม”
อย่าลืมว่า ผู้ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวคือศาล ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่รัฐบาล หัวเรื่องอย่างนี้ย่อมเป็นการสื่อความว่า ศาลไม่ได้คำนึงถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุม ไม่ต่างจากที่ผู้สนับสนุนม็อบทั้งหลายที่ออกมาเรียกร้อง
ในแถลงการณ์ยังระบุว่า นักศึกษาที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ก็เพราะเกี่ยวข้องกับการชุมนุม และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ตามความเป็นจริง ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในรอบแรก 4 คน ในรอบนี้อีก 3 คน ที่เหลือศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวทั้งหมด ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมด ไม่ได้ถูกจับกุมเพียงเพราะไปร่วมชุมนุม และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ได้กระทำผิดกฎหมายตามมาตรา 112 เป็นความผิดคนละหลายต่อหลายกระทง มีพยานหลักฐานที่แน่นหนา เป็นคลิปวิดีโออย่างครบถ้วน และได้กระทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เชื่อได้เลยว่า หากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะกระทำอีก
การแสดงความห่วงใย และช่วยเหลือนักศึกษาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเป็นสิ่งที่สมควรทำ แต่การออกแถลงการณ์ที่ตัดทอนข้อเท็จจริงบางประการออก เพื่อเป็นคุณกับนักศึกษาที่จะอย่างไรก็ทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ไม่น่าจะใช่วิถีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ว่าในยุคใดสมัยใด
แม้ผมไม่ใช่ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ แต่ผมมีความรักและผูกพันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่น้อยไปกว่าศิษย์เก่า แต่ความเที่ยงตรงในข้อมูลและข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดังนั้น จึงยังคงมีความหวังว่า แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยฉบับนี้จะไม่ใช่แถลงการณ์จริง แม้ความหวังของผมจะเป็นเพียงความหวังอย่างลมๆ แล้งๆ ก็ตาม”
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” โพสต์ข้อความของ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” ซึ่งถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ระบุว่า
“แถลงการณ์ จาก รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถึงเพื่อน พ่อ แม่ พี่ น้อง ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน
หากทุกท่านได้รับสารนี้ ตัวรุ้งเองคงไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว รุ้งและเพื่อนๆ อีกหลายคนคงไปอยู่ในเรือนจำ ด้วยกระบวนการอันแสนจะอยุติธรรมในประเทศนี้ที่ปิดปากผู้เห็นต่าง มิหนำซ้ำ เรายังถูกผลักไสให้กลายเป็นศัตรูโดยรัฐ ถูกคุกคาม ปราบปราม จับกุม คุมขัง ด้วยเหตุเพียงว่าพวกเราฝันใฝ่ในสิทธิเสรีภาพ และสังคมที่ดีกว่า
แม้ตัวรุ้งจะไม่อยู่ตรงนี้แล้ว แต่การต่อสู้ของพวกเรายังต้องดำเนินต่อ เพราะการต่อสู้นี้เป้าหมายของพวกเราอันประกอบไปด้วยข้อเรียกร้องคือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องเหล่านี้แม้ตัวของรุ้งเองจะไม่ได้อยู่ตรงนี้ รุ้งอยากให้ทุกคนสานต่อมัน สานต่อความฝันว่า วันหนึ่ง เราจะมีรัฐสวัสดิการที่ดี เราจะไม่เห็นใครอดอยาก เราจะไม่เห็นใครสูงส่งกว่าใคร และ เราจะมีสังคมประชาธิปไตยที่เสมอภาคและเท่าเทียม
การต่อสู้ของพวกเราคือการต่อสู้ที่เป็นระยะทางที่ยาวไกลมาก การต่อสู้นี้คือการเดินทางไกลของพวกเรา พวกเราทุกคนต่างเห็นแล้วว่า เป้าหมายของเราอยู่ข้างหน้า และเราจะได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน แต่กระนั้นเองการที่เราจะเดินไปถึงเป้าหมายนั้นได้ เราย่อมต้องพึ่งความเป็นวินัยและความเป็นเอกภาพอยู่อย่างเสมอ อย่าตกเป็นเครื่องมือของรัฐในการที่พวกเขานั้นจะใช้สลายเราด้วยความรุนแรงเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา หากแต่เราต้องสู้ด้วยความอดทนอดกลั้นต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรมนี้
ในการต่อสู้ครั้งนี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องที่จะยึดมั่นในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีมากกว่าครั้งใด สันติวิธีในที่นี้คือพวกเราจะไม่เป็นผู้ที่เริ่มก่อน เราจะไม่เป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรง เพราะหากเราขาดสติและตอบโต้มันด้วยความรุนแรง พวกรัฐบาลศักดินาชั่วย่อมที่จะใช้มันเป็นโอกาสที่จะย้อนกลับมาทำร้ายเราอย่างแน่นอน ซึ่งการที่รัฐนั้นเป็นผู้กระทำเราก่อนย่อมหมายถึงการทำลายภาพอันดูศักดิ์สิทธิ์และชอบธรรม ที่ไม่ใช่แค่เพียงรัฐบาลเผด็จการ แต่หมายถึงการที่กลับไปลดทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้อยู่เบื้องหลัง
เพดานของพวกเราทุกคนนั้นถูกผลักออกมาไกลจากปีที่แล้วมาก จงอย่าก้มลงและหมอบคลานให้กับอำนาจมืดและศักดินาอีก ขอพึงระลึกถึงการต่อสู้นี้ว่าเราต้องทำอย่างมีแบบแผน มีวินัย และมีเอกภาพ เราต้องมีทั้งสามสิ่งนี้กว่าครั้งไหนๆ ในห้วงเวลาอันแสนมืดมนนี้ รุ้งอยากจะขอร้อง ขอในฐานะเพื่อนคนหนึ่ง ขอในฐานะคนหนึ่งคนที่ออกมาต่อสู้กับทุกคนว่า ให้ออกมากันเถิด ออกมาให้ถึงหมื่น ออกมาให้ถึงแสน และออกมาให้ถึงล้าน ต่อให้วันใดที่ฟ้ามืดมิดที่สุด เราทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดก็ตามในพื้นแผ่นดิน จะเป็นเปลวไฟแห่งแสงคอยส่องให้ประเทศกลับมาสดใสและสว่างอีกครั้ง
สุดท้ายนี้เองกล่าวกันตามตรงกับพี่น้องทุกคนว่า หนทางข้างหน้าของเราไม่ใช่หนทางที่โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ การที่เราจะมุ่งสู่เป้าหมายได้นั้น ย่อมต้องพึ่งพลัง มานะ และความอดทนของเพื่อนพี่น้องประชาชนทุกคน ขอให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสันติวิธี ขอให้ทุกคนยึดมั่นถึงสังคมที่เท่าเทียมและรัฐสวัสดิการที่มนุษย์ทุกคนพึงต้องได้รับ
หวังว่าพวกเราจะได้เดินไปถึงเส้นชัยด้วยกัน หรือถ้าไปถึงเส้นชัยแล้วไม่เจอหนูหรือเพื่อนคนไหนฝากทุกคนคิดถึงพวกเราเผื่อด้วย
หนูจะรอวันที่ได้ออกมาสู้กับทุกคนอีกครั้ง
รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 8 มีนาคม 2564”
แน่นอน, ถือว่า คำอธิบายเกี่ยวกับ ปัญหาว่าทำไมแกนนำม็อบ 3 นิ้ว ไม่ได้ประกันนั้น เป็นไปตามกฎหมาย และดุลพินิจของศาล ซึ่งก็มีความยุติธรรมอย่างชัดเจน เพราะศาลเคยให้ประกันแกนนำเหล่านี้มาก่อนหลายครั้ง แต่แกนนำเหล่านี้ก็กลับมาก่อคดีซ้ำ ซึ่งศาลก็ได้ให้เหตุผลเอาไว้อย่างแจ้งชัด จะมีก็แต่คนบางกลุ่ม และนักกฎหมาย ที่เข้าข้างม็อบ 3 นิ้วเท่านั้น ที่เอียงข้างพวกเดียวกัน
ส่วนกรณี “รุ้ง” ออกแถลงการณ์ปลุกม็อบจากเรือนจำนั้น ประเด็นก็เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากแกนนำหลักหลายคนถูกสั่งฟ้องคดี และไม่ได้ประกันตัว ทำให้กิจกรรมม็อบเริ่มกร่อยลง
นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวที่เป็นลบกับม็อบอย่างมากตามมา ไม่ว่าจะเป็นการก่อความรุนแรงในการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมฝูงชน การเลือกพื้นที่ล่อแหลมในการเคลื่อนไหว จนดูเหมือนจงใจให้เกิดความรุนแรง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ทำให้มวลชนจำนวนมากเริ่มถอยห่าง เพราะกลัวความไม่ปลอดภัย ยิ่งประกาศตัวเป็นม็อบไม่มีแกนนำ ใช้ “ฮ่องกงโมเดล” เป็นต้นแบบ ยิ่งทำให้มวลชนหวาดกลัวความรุนแรงมากขึ้น เพราะเงื่อนไขกดดันที่ต่างกัน
รวมถึงเรื่อง “อมเงิน” บริจาคของคนบางกลุ่มที่เป็นแกนนำ จากการที่ “คนใน” ออกมาแฉกันเองอย่างหนักอยู่ในเวลานี้ ก็ยิ่งทำให้ม็อบ 3 นิ้ว เสื่อมลงเรื่อยๆ
จึงไม่แปลก ที่การอาศัย “รุ้ง” เป็นแรงผลักดันใหม่ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ถึงกับช็อกคนได้อย่างแรง แต่ผู้หญิงนักสู้ผู้แน่วแน่คนหนึ่ง ก็เรียกคะแนนเห็นใจสงสารได้ไม่น้อย
นี่อาจเป็นเกมปลุกกระแสมวลชน จากวีรสตรีผู้ต้องขัง ก็เป็นได้ เหลือก็แต่มาดูกันว่า เรียกหมื่นจะได้หมื่น เรียกแสนจะได้แสน เรียกล้านจะได้ล้านหรือไม่เท่านั้น