ล้ม! ร่าง กม.ทรัสต์ “คุมทรัพย์สินส่วนบุคคล” เหตุ สศค.ย้ำต้องเป็นไปตามร่างเดิม หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) แย้งอาจซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ขัดแนวทาง/กรอบดำเนินการ ตาม กม.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน ฉบับปี 50 ยันหากให้ ก.ล.ต.กำกับดูแลการประกอบกิจการ อาจไม่เหมาะสม เหตุมิได้กำกับทรัพย์สินประเภทอื่น แถมไม่ชัดเจนในประเด็น “ภาษีอากร” ที่เกิดจากการก่อตั้งทรัสต์
วันนี้ (10 มี.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (9 มี.ค.) ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบตามกระทรวงการคลังให้ถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. ... ภายหลังกฎหมายฉบับนี้ กระทรวงการคลังได้ขอนำกลับไปทบทวนอีกครั้ง และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ก่อนนำสู่ขั้นตอนต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ โดยมีผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และผู้แทนสำนักงาบ ก.ล.ต.ชี้แจงรายละเอียด พบข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลทรัสต์เช่นเดียวกันใช้บังคับอยู่แล้ว และในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกลาง กำหนดหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับทรัสต์แต่อย่างใด
อีกทั้งการจัดตั้งทรัสต์ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ มุ่งหมายให้เป็นทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพย์สินของบุคคลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะครอบคลุมทรัพย์สินทุกประเภท แต่แนวทางหรือกรอบในการดำเนินการยังคงเป็นไปตาม พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการจัดตั้งทรัสต์เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกรรมในตลาดทุนเท่านั้น
“นอกจากนี้ การกำหนดให้สำนักงาน ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบกิจการเป็นทรัสตี ตามร่าง พ.ร.บ.นี้อาจไม่เหมาะสม เนื่องจากสำนักงาน ก.ล.ต.มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องการบริหารจัดการหลักทรัพย์ แต่มิได้รวมถึงทรัพย์สินประเภทอื่น อีกทั้งความไม่ชัดเจนในประเด็นทางภาษีอากร ที่เกิดจากการก่อตั้งทรัสต์ว่าจะดำเนินการในแนวทางใด เพื่อมิให้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในภาพรวม”
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงได้มอบหมายให้ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รับประเด็นข้อสังเกตดังกล่าวไปพิจารณาทบทวนหลักการและโครงสร้างของร่าง พ.ร.บ.ฯ เพี่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฯ และเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) อีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาสอบถามไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทราบว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาก่อนนำเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณาอีกครั้ง
ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลังแจ้งว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเป็นทรัสตีตามร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ได้ เพี่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังคงยืนยัน ตามหลักการในเรื่องอื่น ตามร่าง พ.ร.บ.เดิม และยังไม่ได้แก้ไขตามที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีข้อสังเกต
“ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องจำหน่ายเรื่องดังกล่าวออกจากสารบบ และหากเห็นว่า ร่างกฎหมายยังมีความจำเป็น กระทรวงการคลังอาจพิจารณายกร่างขึ้นมาใหม่ตามข้อสังเกตเดิม ประกอบกับจัดให้มีการรับพิงความเห็น”
เมื่อปี 2561 ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. ... ที่มีสาระสำคัญกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล ให้รวมถึงการจัดการทรัพย์สินในกองทรัสต์ภายหลังผู้ก่อตั้งทรัสต์ถึงแก่ความตาย โดยขอบเขตของทรัสต์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล และไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการดังต่อไปนี้ คือ
1) มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน 2) การระดมทุนจากประชาชน 3) การจัดการทรัสต์ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และ 4) การจัดการทรัสต์ที่มีลักษณะเป็นทรัสต์เพื่อการประกอบธุรกิจที่มีกฎหมายกำกับดูแล