โฆษกรัฐบาลเผยเตรียมเปิดตัวโครงการ “SME คนละครึ่ง” ช่วยลดภาระค่าบริการทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน คาดเริ่มเปิดโครงการฯ กลางปีนี้ พร้อมเตือนร้านค้าเข้าร่วมโครงการเยียวยา ห้ามฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเอาเปรียบประชาชน
วันนี้ (7 มี.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มเติม ในลักษณะร่วมกันจ่ายกับ SME (Co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50-80 สำหรับค่าใช้จ่ายในการขอทดสอบผลิตภัณฑ์ จดทะเบียนหรือขอใบรับรองมาตรฐานต่างๆ และการปรึกษาทางธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกอช.) มาตรฐานอาหาร (อย.) ซึ่งที่ผ่านมาการขอรับบริการทางธุรกิจต่างๆ มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นต้นทุนสำคัญของการประกอบการ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของเอสเอ็มอีไทยด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวโครงการ SMEs’ Co-payment ในกลางปีนี้ นอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายแล้วยังเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย สามารถตัดสินใจเลือกพัฒนาคุณภาพและขอรับมาตรฐานสินค้าและบริการที่ตรงความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมแต่ละราย สร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาดด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ริเริ่มแนวทางเพื่อสร้างทางเลือกให้กับ SME ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ได้ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น สสว.จากผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service : BDS) โดย สสว.จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) โดยมีค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการทดสอบและรับรองมาตรฐาน ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดลองผลิตระดับอุตสาหกรรมและการออกแบบ ค่าใช้จ่ายในการขยายโอกาสทางการตลาด ค่าใช้จ่ายในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งค่าตอบแทน เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าผู้เชี่ยวชาญ ค่าวินิจฉัย เป็นต้น โดยคุณสมบัติของเอสเอ็มอีต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว.
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยอีกว่า ล่าสุดรัฐบาลได้มีการปรับกฎเกณฑ์ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อเอื้อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2563
นอกจากนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้มีการหารือเพื่อปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงซอฟต์โลนได้ง่ายและมีวงเงินกู้สูงขึ้น รวมทั้งแนวทาง asset warehousing เพื่อช่วยเหลือไม่ใช้ทรัพย์สินธุรกิจที่ยังมีศักยภาพต้องถูกยึดหรือปิดตัวลงซึ่งรายละเอียดจะนำสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะที่ดำเนินการมาระยะหนึ่ง และโครงการเรารักกันที่จะเริ่มใช้จ่ายได้เร็วๆ นี้ โดยเฉพาะในส่วนของการควบคุมดูแลร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ให้ติดตามตรวจสอบไม่ให้ผู้ค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า หลังจากที่มีประชาชนร้องเรียนถึงปัญหานี้มายังรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีขอให้ร้านค้าเห็นใจประชาชน เพราะทุกคนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนกัน รัฐบาลมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 63 จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินคดีต่อร้านค้าที่กระทำผิดไปแล้ว 68 ราย ในจำนวนนี้เป็นร้านธงฟ้า 47 ราย โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งไปยังร้านค้าทุกแห่งและออกตรวจสอบไม่ให้ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับ เช่น ห้ามยึดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ห้ามรับ/แลกเป็นเงินสด ห้ามบังคับการซื้อ/ขายสินค้า ห้ามจำหน่ายบุหรี่ สุรา เบียร์ ห้ามเอาเปรียบขึ้นราคาและขายเกินราคาที่กำหนดโดยเด็ดขาด
หากพบหลักฐานว่าร้านค้าใดจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่ปิดป้ายแสดงราคา มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับร้านธงฟ้านั้นมีข้อกำหนดชัดเจนอยู่แล้วว่าควรทำอย่างไร ดังนั้น ถ้าตรวจพบการกระทำผิดจะถูกยกเลิกจากโครงการทันทีและอาจถูกยึดเครื่อง EDC หรือยกเลิกการใช้แอปพลิเคชัน ทำให้ไม่สามารถขายสินค้ากับโครงการได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ หากประชาชนพบร้านค้าที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า หรือไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ