“ประวิตร” เร่งแก้น้ำเค็มลดผลกระทบผู้ใช้น้ำ ลงพื้นที่ตรวจเขื่อนพระรามหก จ.พระนครศรีอยุธยา สั่งคุมเข้มแม่น้ำสายหลัก เจ้าพระยา-บางปะกง ยกระดับรับมือน้ำทะเลหนุน ให้กำลังใจ จนท.ปฏิบัติงานทุ่มเท
วันนี้ (3 มี.ค.) พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้เวลา 09.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.), นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. พร้อมคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ณ เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีนายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมให้การต้อนรับ
พล.อ.ประวิตรได้รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำ และมาตรการสำหรับการจัดการปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกงจาก สทนช. รวมถึงรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาความเค็มของน้ำจากหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ เช่น กรมชลประทาน, การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งปีนี้มีค่าความเค็มสูงถึง 2.53 กรัม/ลิตร นับว่าเป็นค่าความเค็มที่สูงสุดในรอบ 10 ปี จากนั้น พล.อ.ประวิตรได้กล่าวมอบนโยบายโดยสรุปคือ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อปัญหาความเค็มของน้ำที่เกินมาตรฐาน (0.5 กรัม/ลิตร) ในการผลิตน้ำประปาซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการใช้น้ำของประชาชน จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยกำชับให้กรมชลประทานร่วมกับการประปานครหลวงเร่งควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เกินเกณฑ์คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร, มอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงมหาดไทยเร่งสร้างการรับรู้เพื่อควบคุมการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกำหนดมาตรการชดเชย-เยียวยาให้แก่เกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ, ให้จังหวัด ควบคุมน้ำในพื้นที่ไม่ให้สูบไปใช้ระหว่างทางเพื่อลดปริมาณน้ำสูญเสียที่จะนำไปช่วยผลักดันน้ำเค็ม และให้การประปานครหลวงเร่งรัดแผนงานระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน
จากนั้น พล.อ.ประวิตร และคณะได้ไปตรวจสภาพพื้นที่บริเวณเขื่อนพระรามหกเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ สำหรับเขื่อนพระรามหกแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกของประเทศไทยที่สร้างกั้นแม่น้ำป่าสักเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร โดยสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2467 มีประตูระบายน้ำแบบเลื่อนขึ้น-ลงในแนวดิ่ง 6 บาน ขนาดบาน กว้าง 12.50 ม. สูง 1.80 ม. สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกได้มากกว่า 680,000 ไร่
พล.อ.ประวิตรได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง และเน้นย้ำให้คุมเข้มมาตรการต่างๆ ทั้งการป้องกันการสูบน้ำไปใช้ระหว่างทาง และการเพาะปลูกพืชเกินแผนที่กำหนด พร้อมทั้งสั่งให้ สทนช.จัดสร้างอาคารควบคุมเพื่อป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็มจากภาวะทะเลหนุน ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรยังได้กล่าวให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผู้ใช้น้ำ และเกษตรกรต่อไป