ทัพไทยยันลงโทษแพทย์ทหารหลอกฉีดวัคซีนกำลังพลในเซาท์ซูดาน พร้อมดำเนินคดีอยู่ระหว่างการจับกุมตามหมายจับ ระบุเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ รับไม่ผ่านการคัดเลือกก่อนส่งไปปฏิบัติหน้าที่ เผยยูเอ็นไม่ติดใจ ชมในผลงานทหารช่าง
วันนี้ (2 มี.ค.) ที่ห้องรับรอง 11 กองบัญชาการกองทัพไทย พล.ท.เชาวลิตร สังฆฤทธิ์ โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วย พล.ต.ณัฐพล แสงจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพ กรมยุทธการทหาร แถลงกรณีกำลังพลร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดาน (UNMISS) ประพฤติผิดวินัยร้ายแรงในการหลอกลวงฉ้อโกงเงินกำลังพลเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์แอฟริกาช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
พล.ท.เชาวลิตร กล่าวว่า เหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวจริงเมื่อปี 2563 เป็นนายทหารสัญญาบัตรยศร้อยโทตำแหน่งนายแพทย์โรงพยาบาลสนามระดับ 1 กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ ไทย/เซาท์ซูดาน และได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน พร้อมรายงานให้ผู้บังคับบัญชากองกำลังภารกิจสหประชาชาติในเซาท์ซูดาน และกองทัพบกซึ่งเป็นหน่วยต้นสังกัดทราบ พร้อมทั้งให้กำลังพลดังกล่าวจบภารกิจและส่งตัวกลับประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2563 กรณีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกองทัพไทย และประเทศไทย ในภารกิจร่วมสหประชาชาติ ต่อกรณีดังกล่าวกองทัพไทยได้ดำเนินการอย่างทันท่วงทีโดยไม่มีการปกป้องผู้กระทำผิดแต่อย่างใด โดยกองทัพบกในฐานะเป็นต้นสังกัดกำลังพลดังกล่าวได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และพิจารณาในประเด็นมาตรฐานทางจริยธรรมควบคู่กันไป สำหรับผลการสอบสวนสรุปว่านายทหารดังกล่าวได้กระทำผิดจริง มีพฤติกรรมหลอกลวงผู้บังคับบัญชาและกำลังพลให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่โดยแอบอ้างว่าเป็นคำสั่งของนายแพทย์ประจำภารกิจ แต่กลับนำสารอื่นเข้าสู่ร่างกายกำลังพลแทน พร้อมทั้งได้เรียกเก็บเงินกำลังพลเป็นค่าวัคซีนด้วย แสดงถึงเจตนาทุจริตหลอกลวง พฤติกรรมดังกล่าวเข้าข่ายฉ้อโกง และประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ในระหว่างการสอบสวนนายทหารดังกล่าวไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการ และไม่สามารถติดต่อได้ หน่วยต้นสังกัดจึงได้ดำเนินการในฐานความผิดหนีราชการในเวลาประจำการ และเสนอปลดออกจากราชการ พร้อมกันนี้ศาลทหารกรุงเทพได้ออกหมายจับในข้อหาหนีราชการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนั้น ได้มีหนังสือถึงแพทยสภาให้พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา ในระหว่างนี้แพทยสภาจะให้โอกาสนายแพทย์ดังกล่าวมาชี้แจงอีกครั้งหลังจากเรียกมาให้ข้อมูลครั้งหนึ่งแล้ว หากไม่มาก็จะถอนใบประกอบวิชาชีพต่อไป
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขอเรียนว่าเป็นการกระทำผิดส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่ผิดวินัยทหาร และกฎหมาย รวมทั้งสร้างความเสื่อมเสียร้ายแรงต่อชื่อเสียงของกองทัพและประเทศชาติ กองทัพไทยได้ดำเนินการตามกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยทันทีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้ดำเนินการเรื่องจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบและสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนทั่วไป”
สำหรับในส่วนของกำลังสหประชาชาติก็มีความเข้าใจในกระบวนการที่กองทัพไทยได้ดำเนินการต่อเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวไม่กระทบต่อภารกิจโดยรวมของกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดาน ซึ่งกำลังพลทุกนายยังทุ่มเทปฏิบัติงานด้านการช่างและการรักษาสันติภาพที่ได้รับมอบหมายอย่างต่อเนื่อง
พล.ท.เชาวลิตรกล่าวว่า ตั้งแต่มีการจัดกองกำลังไปปฏิบัติงานในนามของสหประชาชาติไม่เคยเกิดเรื่องเช่นนี้มาก่อนครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก เนื่องจากที่ผ่านมาเรามีกระบวนการคัดเลือกบุคลากร ศึกษาถึงภูมิหลัง สอบถามผู้บังคับบัญชา แต่กรณีของนายแพทย์คนดังกล่าวไม่ได้ผ่านขั้นตอนการคัดเลือก เนื่องจากไปแทนนายแพทย์คนเดิมที่ต้องกลับมาประเทศไทยในช่วงนั้น จึงเป็นเรื่องกะทันหันไม่ได้มีการพิจารณาตามขั้นตอนต่างๆ
โฆษกกองบัญชาการทัพไทยกล่าวว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ นายแพทย์ดังกล่าวยอมรับกับ ผบ. ร้อยทหารช่างฯ เองว่าทำคนเดียวไม่มีใครเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยได้จัดซื้อวัคซีนจากประเทศอินเดีย ซึ่งทางยูเอ็นนำไปตรวจสอบพบว่าเป็นวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ไม่ใช่ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์แอฟริกา ส่วนกำลังพลที่เสียหายไม่ได้ติดใจอะไรเนื่องจากจำนวนเงินที่เสียหายต่อคนประมาณแค่ 500 บาท รวมกำลังพลกว่า 200 นาย รวมจำนวนแล้วประมาณ 1.7 แสนกว่าบาท ไม่ได้เป็นจำนวนเงินมากมาย แต่สิ่งที่เราตระหนักก็คือเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ส่วนกรณีที่แพทย์คนนั้นได้อ้างว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงซึ่งเป็นโรคที่ห้ามเป็นทหารนั้นไม่ขอตอบประเด็นนี้ แต่การเป็นทหารและเรียนการแพทย์ทหารบก ทั้งสมองและร่างกายจะต้องมีความแข็งแรงสมบูรณ์จะไม่รู้เจตนาว่าทำไปทำไม อีกทั้งตัวเขาเองนั้นก็ยศร้อยโท อายุไม่มากนัก ร่างส่วนที่อ้างว่าถูกกำลังพลของกองร้อยทหารช่างฯ คุกคามข่มขู่นั้นก็ไม่เป็นความจริง จากการสอบถามกำลังพลทั้งหมดให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่ ทบ. และแพทยสภา เปิดโอกาสให้ชี้แจง ตัวเขาก็ไม่มาชี้แจง
พล.ต.ณัฐพลกล่าวว่า สำหรับการดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับกำลังพลที่เดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าวจะมีมาตรฐานจากยูเอ็นกำหนดไว้ โดยก่อนออกเดินทางทุกคนจะได้รับวัคซีน 3 ชนิด คือ ไข้เหลือง กาฬหลังแอ่น อหิวาห์ตกโรค หากมีความต้องการฉีดเพิ่มต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งช่วงดังกล่าวมีการแพร่ระบาดโควิด มีการแนะนำว่าฉีดว่าหากฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการส่งแพทย์คนดังกล่าวไปแทนคนเก่านั้นก็เป็นเหตุสุดวิสัย