xs
xsm
sm
md
lg

“อริย์ธัช” เปรย รัฐบาลสื่อสารสับสน หวั่นทำคนกลัวการฉีดวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (2 มี.ค.) นายอริย์ธัช ชาติอาริยะพงศ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.เขตสวนหลวง พรรคกล้า ให้ความเห็นต่อการรับมือสถานการณ์โควิด - 19 ด้วยการฉีดวัคซีนว่า วัคซีนเป็นทั้งความหวังและอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรคในครั้งนี้ โดยจะเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์ทั้งในด้านสาธารณะสุขและทางเศรษฐกิจ ข่าวดีก็คือเวลานี้ ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 220 ล้านโดส พบว่า ประเทศที่มีการฉีดครอบคลุมไปแล้วจำนวนมากอย่าง อิสราเอล ที่ฉีดเข็มแรกไปคลุมประชากรไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซนต์ มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงกว่าครึ่งและมีอัตราการตายต่อวันลดลงชัดเจน สะท้อนว่าการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้คนหมู่มากสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงก็มีน้อยมาก ในด้านเศรษฐกิจ พบว่า บรรดาประเทศที่มีการฉีดวัคซีนหมู่จำนวนมากสามารถกลับเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ รวมถึงการเปิดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีการตกลงระหว่างกันหรือที่เรียกว่า ทราเวลบับเบิ้ล ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีคแล้วเข้าประเทศไม่ต้องมีการกักตัวใดๆ เช่น กรีซกับอิสราเอล เป็นต้น

นายอริย์ธัช กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยก็มีข่าวดีเช่นกันคือ ได้รับวัคซีนล็อตแรกแล้ว เป็นวัคซีนชิโนแวค จากประเทศจีน หลังจากนั้นก็จะมีวัคซีนจากแอสตราซิเนกา เข้ามาอีกชุด นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่าจะมีการสั่งวัคซีนเข้ามาเพิ่มอีกจำนวนมากจากบริษัทต่างๆ เพื่อคืนสถานการณ์ปกติกลับมาให้ประเทศได้เร็วขึ้นจากแผนเดิม ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าเรื่องการสื่อสารของรัฐบาลยังคงเป็นปัญหาสำคัญ เพราะที่ผ่านมามีความสับสนไม่แน่นอนจนทำให้ประชาชนเริ่มขาดความเชื่อมั่นและอาจนำไปสู่การปฏิเสธการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์ ถ้าเป็นไปได้จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องรู้ตัวและเร่งปรับแก้ไขโดยด่วน

“การที่วันหนึ่งบอกว่านายกรัฐมนตรีจะฉีดเป็นคนแรกเพื่อสร้างความเชื่อมั่น พออีกวันหนึ่งก็มาแก้ข่าวกัน ว่าไม่ฉีดแล้วเพราะปัญหาธุรการ พออีกวันหนึ่งก็บอกใหม่ว่าเป็นเพราะอายุมากเกินจะฉีดวัคซีนชนิดนี้ นี่คือปัญหาสำคัญในด้านการสื่อสารโดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ เพราะการเปลี่ยนสารบ่อยๆสุดท้ายก็จะกลายเป็นข้อกังขา ทำให้ประชาชนรู้สึกกลัวและไม่กล้าฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนชิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนล็อตแรกนำเข้ามา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการพูดถึงกันมากถึงประสิทธิภาพของวัคซีนว่ายังไม่แน่นอนเพราะมีผลแตกต่างกันมากในหลายประเทศ บางประเทศมีประสิทธิภาพเพียงมากกว่าร้อยละ 50 นิดหน่อยเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าหลายประเทศปฏิเสธที่จะฉีดวัคซีนชนิดนี้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพราะมองว่าเป็นหน้าด่านที่มีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อและจะไม่ฉีดให้กับผู้ที่มีอายุสูงกว่า 60 ปี”นายอริย์ธัช กล่าว

นายอริย์ธัช ยังกล่าวต่อว่า ความจริงแล้วในเรื่องนี้สามารถชี้แจงได้ด้วยการให้รายละเอียดทางการแพทย์มาประกอบเพื่อสร้างความเข้าใจและรับรู้ตรงกันตั้งแต่เนิ่นๆ เหมือนที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ยืนยันว่า วัคซีนชิโนแวค มีประสิทธิภาพลดความรุนแรงของโรค โดยป้องกันการป่วยที่มีอาการน้อยต้องพบแพทย์แบบผู้ป่วยนอกได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ป้องกันการป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ไม่ต้องพบแพทย์ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องสื่อสารให้ประชาชนรับทราบโดยตลอด และควรวางแผนการฉีดให้สอดคล้องกับกลุ่มประชากร เช่น หากหลายประเทศมีข้อกังวลในการฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ เราก็อาจยึดมาเป็นแนวทาง โดยใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าในการฉีดคุ้มกันให้ด่านหน้าและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ส่วนวัคซีนชิโนแวคซึ่งได้รับการยอมรับเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็ควรเลือกใช้กับกลุ่มประชากรที่แข็งแรงและมีความเสี่ยงน้อย ถ้ามีความชัดเจนแบบนี้แต่แรก ไม่รีบพยายามสื่อสารเพียงเพราะต้องการให้หน้าให้ตาใครบางคนให้ได้ซีนมากเกินไป แล้วว่ากันไปตามข้อมูลทางการแพทย์ก็คงไม่ต้องมาจับตาว่าใครคนไหนจะฉีดเป็นเข็มแรก จนกลายเป็นความสับสนซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมของแผนวัคซีนเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น