รองโฆษกรัฐบาล เผย ไทย-ญี่ปุ่น สานต่อความร่วมมือด้านแผนงานนโยบายเทคโนโลยีจราจร วางแนวนโยบายแก้ปัญหา พร้อมสร้างความปลอดภัยทางถนน ครอบคลุมทางหลวง ทางพิเศษ แนวทางส่งเสริมการลงทุนรูปแบบพีพีพี
วันนี้ (15 ก.พ.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ก.พ. 2564 ได้เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร (Memorandum of Cooperation on the Policy Planning and Technologies of Road Traffic) ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นกรอบความร่วมมือฉบับใหม่ แทนบันทึกความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางถนน (Memorandum of Cooperation on Road Safety) ที่รัฐบาล 2 ประเทศ ดำเนินการในปี 2560-2562 ที่ต่อมาได้เปลี่ยนผู้รับผิดชอบฝ่ายญี่ปุ่นเป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ภายใต้โครงการ Capacity Improvement for Road Traffic Safety Institution and Implementation in Thailand ดำเนินการระหว่างปี 2563-2565
ทั้งนี้ ความร่วมมือฯ ฉบับใหม่จะขยายขอบเขตดำเนินการระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในด้านการพัฒนาแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร แนวทางการส่งเสริมโครงการในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการก่อสร้างอุโมงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของประเทศ ครอบคลุมถึงโครงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างทางลอดอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส-สำโรง) เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติของญี่ปุ่นในด้านการดำเนินการและเทคโนโลยีการบำรุงรักษาถนนลอดอุโมงค์ ทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับโดยรูปแบบความร่วมมือนั้น จะให้มีผู้เชี่ยวชาญจากส่วนต่างๆ ที่มีความรู้ ประสบการณ์หรือเทคโนโลยี/ผลิตภัณฑ์ด้านการจราจรเข้ามามีส่วนร่วม และจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโดยฝ่ายไทยจะมีผู้แทนระดับอธิบดีจากกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีผู้แทนของกระทรวงที่ดินฯ ของญี่ปุ่นเข้าร่วมและให้คำแนะนำ
ทั้งนี้ ภายหลังจากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว กระทรวงคมนาคมจะประสานงานกับฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อลงนามร่วมกันต่อไป โดยจะมีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี นับจากวันที่ลงนาม
นอกจากนี้ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างบันทึกความร่วมมือนี้ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่ต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาและเห็นชอบ