xs
xsm
sm
md
lg

“กลุ่มครอบครัว” นวัตกรรมแก้ปัญหาสุราเชิงรุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"กลุ่มครอบครัว" ต้นแบบแก้ปัญหาสุราเชิงรุกและยั่งยืน ยึดหลักเชื่อมั่นศักยภาพชุมชน ผนึกผู้นำท้องถิ่น - อาสาสมัคร และคนในครอบครัวมีส่วนร่วม "สร้างพลังใจ" จัดกิจกรรมแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน 6 เดือน เริ่มมีกำลังใจ ลด ละ เลิก เห็นผลแล้ว 8 พื้นที่ 5 จังหวัด เตรียมขยายผลต่อเนื่อง พร้อมหนุนกิจกรรม “อาชีพเสริม” ดูแลครอบครัวผู้มีปัญหาสุราฝ่าวิกฤตโควิด-19



นางสาวรักชนก จินดาคำ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เปิดเผยว่าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนชุมชนให้มีศักยภาพในการจัดการปัญหาและพัฒนาชุมชนได้ด้วยตัวเอง โดยชุมชนต้องมีโอกาสได้รับรู้ปัญหาของตนเอง ได้รับ ความรู้ ทักษะที่เหมาะสม มีเพื่อนมีเครือข่าย มีหน่วยงาน มีภาคีเครือข่ายมาหนุนเสริมช่วยเหลือตามกำลังของทรัพยากร ตลอดจนปัญหาและการพัฒนานั้นตรงตามความต้องการของชุมชน โครงการฯ ได้ดำเนินการ โดยนำนวัตกรรม รูปแบบการดูแลผู้มีปัญหาสุรา โดยกลุ่มครอบครัว (Family Clubs) มาขยายผลใช้ในพื้นที่ชุมชนที่มีความพร้อม เชื่อมั่นว่าชุมชนมีศักยภาพ แนวทางจึงมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครและผู้นำชุมชนในการดูแลผู้มีปัญหาสุราในรูปแบบกลุ่มชมรมครอบครัว (Family Clubs) ออกแบบให้คณะทำงานชุมชนสามารถคัดกรอง ประเมินระดับการดื่มของผู้มีปัญหาสุราในชุมชนและช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายให้ลด ละ เลิกสุรา มีคนใกล้ที่เข้าใจ ทั้งคนใครอบครัว คนรอบข้าง คนในชุมชน ที่เข้ามาหนุนเสริม สร้างพลังใจ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้เขาได้ทบทวนความผิดพลาด พลั้งเผลอ ได้เห็นคุณค่าในตัวเองที่เป็นหัวใจสำคัญมาก ต่อการกู้คืนความหวัง

“การรวมกลุ่มกันของคนที่มีประสบการณ์เดียวกัน มีทั้งเพื่อน ที่มีปัญหาเหมือนกัน คอยประคับประคองช่วยเหลือ โดยมีกิจกรรมพบปะกลุ่มอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ในระยะ 6 เดือน มีการติดตามต่อเนื่องจากคณะทำงานในชุมชน เสริมทักษะส่งเสริมคุณภาพชีวิต ยิ่งนำไปสู่ความยั่งยืน ณ วันนี้ขยายพื้นที่ดำเนินงานไปแล้ว 8 พื้นที่ 5 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ , สุโขทัย , สมุทรสาคร , หนองบัวลำภู และ กรุงเทพมหานคร” นางสาวรักชนก กล่าว


นางบังอร สุปรีดา นักวิชาการ แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต กล่าวว่าการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราโดยใช้ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง ทั้งภูมิปัญญาของคนในชุมชน คนที่มีจิตอาสา และ ความรักห่วงใยในครอบครัว มองเห็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของส่วนรวมไม่นิ่งเฉยดูดาย ทำให้เกิดภาพการดูแล ห่วงใย เอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เฉพาะการ ลด ละ เลิกการดื่ม แต่ยังมีการร่วมคิด ร่วมทำการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย ทั้งด้านความเป็นอยู่ การเกษตรหรือกิจกรรมใดๆก็ตามที่จะเป็นการหนุนเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ ซึ่งสุขภาพจิต หมายถึง สภาพของการมีสุขภาวะที่ดีซึ่งบุคคลตระหนักถึงความสามารถของตัวเอง สามารถรับมือกับความเครียดปกติในชีวิต ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล รวมทั้งสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ การส่งเสริมสนับสนุนให้คนอื่นมีความสุข จะส่งผลกับตนเองด้วย ขอชื่นชมโครงการการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จุดประกายให้หลายชุมชนเริ่มที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สังคมอยู่ดีมีสุข และขอชื่นชมชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ เชื่อว่าถ้าชุมชนเข้าใจว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในชุมชนสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ด้วยชุมชนเองแล้ว จะทำเกิดความยั่งยืน ต่อไป


นางสายปิ่น แก้วเกตุ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 บ้านริมธารา ต.เขาแก้วศรีสมบูรณ์ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คณะทำงานของบ้านริมธารามีทั้งหมด 15 คน ได้รับการอบรมพัฒนาศักยภาพการดำเนินกิจกรรมกลุ่มครอบครัว และความรู้ในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา จากทางโครงการฯ นำประสบการณ์มาบูรณาการกับการทำงานในชุมชน คณะทำงานมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ทั้งในส่วนของครูผู้เอื้อ หรือผู้นำกลุ่ม ผู้นำที่เป็นคนอำนวยการ ผู้บันทึกกิจกรรม ผู้ติดตามประเมินผล ในส่วนกลุ่มเป้าหมายมีทั้งหมด 8 ครอบครัว เมื่อผ่านกิจกรรมในระยะ 3 เดือน กลุ่มเป้าหมายมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มลดลง และมีแนวโน้มเลิกการดื่มสุรา มีสัมพันธภาพที่ดีกับครอบครัว นอกจากนี้ยังมีการทำกิจกรรมคัดแยกขยะ ปลูกผักปลอดสารพิษ รวบรวมขยะเปียกไปเลี้ยงไก่, เป็ด โดยนำผักปลอดสารพิษ และไข่ไก่ ไข่เป็ด ไปจำหน่ายที่ตลาดในชุมชนสร้างรายได้ให้ครอบครัว สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวและคณะทำงานได้มีกำลังใจในการดำเนินกิจกรรมต่อไป


สำหรับ “ชมรมครอบครัวสุขใจ” ต้องการให้อาสาสมัคร และ ผู้นำชุมชน ดึงครอบครัวผู้มีปัญหาสุรามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึก เกิดเพื่อนร่วมปัญหา และได้รับรู้พิษร้ายของสุรา รวมถึงแนวทางไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเพื่อนสมาชิกครอบครัวอื่นในกลุ่มได้มีทางเลือกในการบำบัด จากเดิมต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพังปราศจากความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวและชุมชน นับเป็นการส่งเสริมการสื่อสารภายในครอบครัวเกิดความรักความเข้าใจที่ดีต่อกัน และ เป็นกลไกเชิงพื้นที่ระดับชุมชนในการแก้ปัญหาสุราอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และในสถานการณ์โควิด 19 ทางโครงการฯยังได้ออกแบบแนวทางที่ให้ทางคณะทำงานชุมชนและกลุ่มเป้าหมายผู้มีปัญหาสุราได้คิดกิจกรรมในมิติการสร้างคุณภาพชีวิต อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร การสร้างทักษะอาชีพ มุ่งเน้นการพึ่งตนเอง การส่งเสริมให้เกิดคุณค่าในตนเอง เป็นพลังแห่งการฟื้นคืนและการใช้ชีวิต

ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีการดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนได้แก่สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในการช่วยเป็นทีมพี่เลี้ยง เป็นทีมที่ปรึกษา คอยเติมองค์ความรู้ ข้อมูลและกระบวนการ เพื่อให้การเริ่มต้นทำงานของคณะทำงานชุมชน ในมิติการจัดการปัญหาสุราโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนมีความพร้อม มีความมั่นใจในการดำเนินงานมากขึ้น
















กำลังโหลดความคิดเห็น